มติครม.รับทราบสาระสำคัญ (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13

-
กลุ่มไลน์ข่าวการศึกษา
กลุ่มไลน์ข่าวการศึกษา
ครูประถม.คอม ข่าวการศึกษา ได้นำรายละเอียดมติครม.รับทราบสาระสำคัญ (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) มาฝากกัน สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับมติครม.รับทราบสาระสำคัญ (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 สามารถอ่านเพิ่มเติมด้านล่างได้เลยนะคะ
มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 รับทราบสาระสำคัญ และกรอบแนวคิดของการขับเคลื่อน ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) (แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13) โดยมอบหมายสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประสานงานกับสำนักงบประมาณ (สงป.) เพื่อกำหนดกลไกที่เหมาะสมในการจัดสรรงบประมาณสำหรับสนับสนุนการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 และมอบหมาย สงป. จัดทำยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
สาระสำคัญ
ปัจจุบัน สศช. อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อ (ร่าง) แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ซึ่งจะมีกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2564 จากนั้นจะเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยสาระสำคัญของ (ร่าง) แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ประกอบด้วย
- บทบาท ความสำคัญ และสถานะ โดยที่แผนพัฒนาฯ เป็นแผนระดับที่ 2 ซึ่งเป็นกลไกในการถ่ายทอดยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติ ทำหน้าที่ระบุทิศทางและเป้าหมายการพัฒนาที่ประเทศควรให้ความสำคัญในระยะ 5 ปี ดังนั้น จึงได้มีการปรับเปลี่ยนกรอบการจัดทำ (ร่าง) แผนพัฒนาฯ (ฉบับที่ 13) ให้ครอบคลุมเฉพาะประเด็นการพัฒนาประเทศที่มีความสำคัญสูง ทั้งนี้ ประเด็นการพัฒนาภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติซึ่งไม่ได้ระบุไว้ใน (ร่าง) แผนพัฒนาฯ(ฉบับที่ 13) จะดำเนินการขับเคลื่อนผ่านแผนระดับ 2 ฉบับอื่นต่อไป
- หลักการและแนวคิด 4 ประการ ได้แก่ (1) หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (2) แนวคิด “ล้มแล้วลุกไว” (Resilience) มุ่งเน้นการลดความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลง และการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสเพื่อสร้างการเติบโตที่มีคุณภาพและยั่งยืน (3) เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ และ (4) โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio – Circular -Green Economy: BCG) นอกจากนี้ยังได้คำนึงถึงเงื่อนไขและข้อจำกัดที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของบริบทในระดับประเทศและระดับโลกในระยะยาวอันเป็นผลสืบเนื่องจากโควิด 19
- วัตถุประสงค์และเป้าหมาย เพื่อพลิกโฉมประเทศไทย (ไทย) สู่ “สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” โดยมีเป้าหมายหลักที่ต้องการบรรลุผล 5 ประการ สรุปได้ ดังนี้
เป้าหมาย | สาระสำคัญ |
(1) การปรับโครงสร้างการผลิตสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม | ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการที่สำคัญให้สามารถตอบโจทย์พัฒนาการของเทคโนโลยีและสังคมยุคใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม |
(2) การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่ | พัฒนาคนไทยให้มีทักษะและคุณลักษณะที่เหมาะสมกับโลกยุคใหม่และเตรียมกำลังคนที่มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน |
(3) การมุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม | ลดความเหลื่อมล้ำเชิงรายได้ ความมั่นคง และโอกาสในการแข่งขันของภาคธุรกิจ รวมทั้งสนับสนุนช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางและผู้ด้อยโอกาสในการเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจและสังคม |
(4) การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน | ปรับปรุงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตและการบริโภคให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับขีดความสามารถของระบบนิเวศและการแก้ไขปัญหามลพิษด้วยวิธีการที่ยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในระยะยาว |
(5) การเสริมสร้างความ สามารถของประเทศในการรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงภายใต้บริบทโลกใหม่ | สร้างความพร้อมในการรับมือและแสวงหาโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงของโลก พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกลไกทางสถาบันที่เอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล รวมทั้งปรับปรุงโครงสร้างและระบบการบริหารงานของภาครัฐ ให้สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของบริบททางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี |
4. หมุดหมายการพัฒนา ได้กำหนด 13 หมุดหมายการพัฒนาเพื่อถ่ายทอดเป้าหมายหลักไปสู่ภาพของการขับเคลื่อนที่ชัดเจน โดยแบ่งเป็น 4 มิติ ดังนี้
มิติ | หมุดหมายการพัฒนา |
(1) ภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย 6 หมุดหมาย | 1. ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง 2. ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน 3. ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน 4. ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง 5. ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ ที่สำคัญของภูมิภาค 6. ไทยเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของอาเซียน |
(2) โอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม 3 หมุดหมาย | 7. ไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้ 8. ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน 9. ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลงและคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม |
(3) ความยั่งยืนของทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2 หมุดหมาย | 10. ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ 11. ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ |
(4) ปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ 2 หมุดหมาย | 12. ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต 13. ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน |
กรอบแนวคิดของการขับเคลื่อน ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล
ใช้หลักการของวงจรบริหารงานคุณภาพ (Plan-Do-Check-Act: PDCA) ซึ่งให้ความสำคัญกับการสร้างกระบวนการทำงานที่เป็นระบบและมีการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ มีสาระสำคัญ สรุปได้ ดังนี้
- การขับเคลื่อน (Do) ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ (1) การขับเคลื่อนแบบบนลงล่าง (Top down) โดยการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13ที่มีองค์ประกอบครอบคลุมภาคีการพัฒนาทั้งภาครัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการและสร้างความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ในการผลักดันให้การดำเนินงานสามารถบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 และ (2) การขับเคลื่อนแบบล่างขึ้นบน (Bottom up) ผ่านการจัดทำแผนพัฒนาภาค และจังหวัด/กลุ่มจังหวัด ที่มีการถ่ายระดับเป้าหมายการพัฒนาของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 โดยพิจารณาให้มีความสอดคล้องกับศักยภาพ ความต้องการและทรัพยากรของพื้นที่ รวมถึงเป็นไปตามนโยบาย หลักเกณฑ์ และแนวทาง ตามที่คณะกรรมการบูรณาการนโยบายภาคและคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการกำหนด
- การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล (Check) ใช้กลไกการทำงานที่มีอยู่ของหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งมีภารกิจเกี่ยวข้องกับการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล เช่น ผู้ตรวจราชการ คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ สศช. และ สงป.
- การปรับปรุงการดำเนินงานตามผลการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล (Act) หน่วยงานและกลไกที่เกี่ยวข้องนำผลการติดตามฯ ไปวิเคราะห์และประมวลผลเพื่อกำหนดมาตรการปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานให้มุ่งสู่เป้าหมายตามระยะเวลาที่กำหนดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ขอขอบคุณที่มา : ศธ.