วันศุกร์, กรกฎาคม 5, 2024
หน้าแรกข่าวการศึกษารมว.ศธ. ‘เพิ่มพูน’ บอกลุยเลย รวม 4 พันธมิตรเติมทักษะ AI ให้ครูและผู้เรียนทุกระดับ

รมว.ศธ. ‘เพิ่มพูน’ บอกลุยเลย รวม 4 พันธมิตรเติมทักษะ AI ให้ครูและผู้เรียนทุกระดับ

4 กรกฎาคม 2567 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม / กระทรวงศึกษาธิการ โดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการ “โครงการขับเคลื่อนการสอนปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ในสถาบัน การศึกษา” เพื่อสร้างผู้สอน นักเรียนทุกคน ทุกช่วงชั้น ให้มีความรู้ด้าน AI มีความเข้าใจและตระหนัก เรื่องจริยธรรมของการนำไปใช้ประโยชน์ (ethical considerations) เตรียมพร้อมสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัล และรองรับตลาดแรงงานสมัยใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 โดยพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) และ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) ได้ร่วมเป็นสักขีพยาน

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงการอุดมศึกษาฯ (อว.) เราต่างเป็นทีมเดียวกัน เพราะต้นน้ำของการผลิตทรัพยากรบุคคลของประเทศคือ ศธ. ส่วน อว. มีทรัพยากรที่มีคุณค่ามากคือเทคโนโลยีและบุคลากรชั้นนำของประเทศ ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้จะไม่มีรูปแบบของการนำร่อง เพราะสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ระบบปัญญาประดิษฐ์ก็จะเข้ามาอยู่ในทุกส่วนของการใช้ชีวิต เราไม่สามารถทดลองแล้วรอศึกษาผลถึง 3 ปีได้ ตอนนี้เราต้องลุยเลย ถ้าคิดว่าดี ทำในห้องทดลองดีแล้วก็เอาออกมาใช้เลย ใน ศธ. ผมมักจะบอกอยู่เสมอว่า กรุณาเปิดกะลาที่ครอบตัวท่านออกเพื่อให้เห็นโลกภายนอก

ดังนั้น AI ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่เราจะต้องส่งเสริม พัฒนาการเรียนรู้ให้กับเด็กทุกระดับได้เรียนรู้ให้เข้าใจ สามารถนำไปใช้ได้ เราจึงต้องร่วมมือกันก้าวเดินไปข้างหน้าเพื่อให้การศึกษาของประเทศเราดีขึ้น อย่างที่ผมเคยกล่าวไว้ในสภาฯ ว่า การศึกษาไทยไม่สามารถปฏิรูปอย่างช้า ๆ ได้ แต่ต้องปฏิวัติการศึกษาอย่างรวดเร็ว และเร่งด่วน จึงขอความร่วมมือทุกคนช่วยกันเพื่อพัฒนาการศึกษาของประเทศของเราต่อไป

นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ และโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า วันนี้ AI เป็นเรื่องที่เด็กสนใจที่จะเรียน แล้วผู้ปกครองก็คิดว่าเป็นความรู้ที่ลูกควรจะมี ซึ่งวิชานี้จะเป็นวิชาที่ใหม่ทั้งกับครูและนักเรียน สิ่งหนึ่งที่เราอาจจะได้เห็นก็คือครูกับนักเรียนสามารถเปลี่ยนบทบาทกันได้ วันนี้ครูรู้มากกว่าครูสอนให้นักเรียน พรุ่งนี้นักเรียนค้นคว้าเพิ่มเติมมาก็สามารถนำมาสอนครูได้

ทั้งนี้ทาง สวทช. ก็จะออกวิชาให้เป็นรูปแบบใหม่ คือ เป็นลักษณะของ Micro-Credit ซึ่งแต่ละหน่วยย่อยสามารถนำไปสอนได้ ไม่ว่าจะเป็นในห้องเรียน ในชั่วโมงกิจกรรม หรือแม้กระทั่งในวิชาลูกเสือ คิดว่าน่าจะสร้างบรรยากาศความตื่นตัวสนใจอยากรู้ของผู้เรียนได้มากกว่าปกติ โดยจะมีทั้ง Onsite Online ให้ผู้เรียนได้เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) เพื่อให้การเผยแพร่เป็นไปด้วยความรวดเร็ว ซึ่งหลักสูตรนี้ทาง สวทช. และ NECTEC จะปรับรูปแบบคือ 1 ปี สามารถใช้ได้เลย ส่วนจะใช้มากใช้น้อยตรงนี้คิดว่าแล้วแต่ความพร้อมของแต่ละพื้นที่ แต่จะไม่ช้าอย่างแน่นอน

นายสิริพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ผลสำเร็จที่ ศธ. มุ่งหวังในตอนนี้ไม่ใช่การชี้วัดว่าครูสอนครบหรือไม่ เด็กได้คะแนนเท่าไหร่ แต่เราวัดผลตรงที่ว่าเรียนจบแล้วเด็กทำอะไรได้บ้าง ยกตัวอย่างคือในอดีตเราอาจจะลอกการบ้านเพื่อน เด็กโตขึ้นมาอีกรุ่นหนึ่งเขาลอกจากอินเตอร์เน็ต ส่วนเด็กยุคใหม่เขาไม่ต้องลอกจากใคร แต่เขาจะต้องสามารถตัดสินใจได้ว่าคำตอบที่ AI ประมวลผลมาให้ เขาจะเลือกคำตอบไหนซึ่งเป็นทักษะคนละแบบกัน คิดว่าเราก็จะวัดจากการที่เด็กสามารถใช้ AI ได้ ซึ่ง หลักสูตรใดพร้อมแล้วก็เอามาใช้ก่อน เนื่องจากไม่ต้องรอเสร็จทั้งหลักสูตรเราก็สามารถนำชุดความรู้เหล่านี้มาถ่ายทอดได้เลย

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า การทำหลักสูตรสมัยก่อนจะยึดเป็นหนังสือ ซึ่งกว่าจะออกมาเป็นหนังสือ กว่าจะทดลองเอาเนื้อหามาทดลองใช้ในโรงเรียนนำร่อง เอาไปปรับและตีพิมพ์ใช้เวลาถึง 3 ปี แต่ช่วงโควิดที่ผ่านมาเราเจอว่ามีสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้นเยอะมาก ถ้าจะรอ 3 ปีไม่ทันแน่นอน จึงต้องขอบคุณ ศธ. ที่เห็นความสำคัญของ สวทช. ว่าเรามีนักวิจัย AI อยู่และเป็นแนวหน้าด้าน AI ของประเทศ จากนี้เราจะมาคิดร่วมกันว่าจะทำยังไงให้เด็กของเรารู้ทัน AI และเทคโนโลยีให้เร็วที่สุด

อีกสำคัญเรื่องคือคุณครูซึ่ง ศธ. เอาจริงมาตั้งแต่ตอนเปิดตัว Coding แล้ว ครูทั้งประเทศเข้ามาในหลักสูตรอบรมที่ สวทช. ทำคู่กันกับ ศธ. ดังนั้นเช่นเดียวกันในเรื่องของ AI เราก็ต้องอบรมครูให้เข้าใจก่อน วันนี้ทาง NECTEC ได้จัดทีมเข้ามาดูแลเต็มที่ในการจัดการเรียนการสอน รวมถึงนักวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอน ก็จะมาร่วมเป็นเครือข่ายร่วมกับครู เพื่อดูว่าสามารถรับได้ขนาดไหน เนื้อหาที่เหมาะสมประมาณไหนที่จะสามารถนำเข้าไปใช้ในโรงเรียนได้

ที่มา : ศธ.360 องศา

RELATED ARTICLES

Most Popular

Recent Comments

QR Code Generator | สร้างรหัส QR ของคุณได้ฟรี - สร้าง QR Code ออนไลน์อย่างง่ายและฟรี