Take a fresh look at your lifestyle.

4-3-3-1 KK-Model รูปแบบกระบวนการช่วยเหลือระดับจังหวัด ลดความเหลื่อมล้ำและแก้ปัญหาประเด็นเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาในภาวะวิกฤตทางการศึกษา

วันที่ 23 ตุลาคม 2566 ขอนำเสนอ 4-3-3-1 KK-Model รูปแบบกระบวนการช่วยเหลือระดับจังหวัด ลดความเหลื่อมล้ำและแก้ปัญหาประเด็นเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาในภาวะวิกฤตทางการศึกษา

ณ โรงแรมโฆษะ ขอนแก่น นายรัชพร วรรณคำ ศึกษาธิการจังหวัดขอนแก่น มอบหมายให้ นางกฤษณา เสมหิรัญ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ นำเสนอ ‘4-3-3-1 KK-Model’ รูปแบบการทำงานระดับจังหวัดเพื่อสร้างโอกาส สำหรับผู้เรียนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา ในการประชุมหารือเพื่อการจัดเวทีสมัชชาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาจังหวัดขอนแก่น ปี 2566 โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นทีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำจังหวัดขอนแก่น 2565/2566 โดยมี นายเจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ เลขาธิการมูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้า หัวหน้าโครงการฯ เป็นประธานการประชุม

ศน.กฤษณา ร่วมแลกเปลี่ยน ระดมความคิดเห็นและนำเสนอประเด็นการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสำหรับเด็กกลุ่มเสี่ยงในจังหวัดขอนแก่น โรงเรียนขนาดเล็กและขนาดกลาง โดยใช้รูปแบบ ‘4-3-3-1 KK-Model ลักษณะการทำงานดังกล่าวประกอบด้วยกลไก 4 ส่วนสำคัญ

“4” หมายถึง กลไกการบูรณาการระหว่างหน่วยงานระดับจังหวัด จาก 4 กระทรวง ได้แก่ ฝ่ายปกครองและมหาดไทย (ผู้ว่าราชการจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด พัฒนาชุมชนจังหวัด และท้องถิ่นจังหวัดขอนแก่น) ศึกษาธิการจังหวัดและเขตพื้นที่การศึกษา สาธารณสุขจังหวัด และ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ทำงานร่วมกันในเชิงการสนับสนุนพื้นที่และโอกาสการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาคส่วนต่างๆ มีเป้าหมายเดียวร่วมกันคือทำให้ขอนแก่นเป็นเมืองน่าอยู่ที่ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง

“3” หมายถึง กลไกการทำงานขององค์ประกอบระดับผู้ปฏิบัติการที่ใกล้ชิดและสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ทันท่วงที ประกอบด้วย ผู้จัดการรายกรณี (case manager: CM) ชุมชน และ ภาคเอกชน ผู้จัดการรายกรณีทำหน้าที่บริหารจัดการและประสานงานกับส่วนงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลือเข้าถึงเด็กและเยาวชนให้ได้เร็วที่สุด

ชุมชนซึ่งหมายรวมถึงบ้าน-วัด-โรงเรียนด้วย จะทำหน้าที่สอดส่องดูแล และทำงานร่วมกับ CM เพื่อเฝ้าระวังภาวะวิกฤตทางการศึกษาของเด็กและเยาวชน และไม่ให้เกิดการหลุดออกจากการศึกษาซ้ำซ้อน

ภาคเอกชน ทำหน้าที่สนับสนุนทรัพยากรการทำงานในรูปแบบของทุนการศึกษา วัสดุอุปกรณ์การเรียน หรือของใช้จำเป็นที่เด็กและเยาวชนกลุ่มเป้าหมายจำเป็นต้องได้รับเพื่อให้หลุดพ้นจากภาวะวิกฤต

ทั้งนี้ องค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนต้องมีส่วนร่วมกับการทำงานระดับจังหวัดอยู่เป็นประจำเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงาน และเกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้อยู่เสมอ

“3” อีกตัวหนึ่ง หมายถึง กลไกการดำเนินงานที่เป็นวัฏจักรของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกกลุ่ม ประกอบด้วย 3 กลไกสำคัญ ได้แก่ การค้นหา การช่วยเหลือเบื้องต้น และ การส่งต่อ แต่ละกลไกมีกระบวนการที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ประกอบกันเพื่อให้สามารถระบุตัวตนของกลุ่มเป้าหมายได้ ซึ่งอาจเริ่มต้นได้จาก “ข้อมูลของครูประจำชั้น” จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์และระบุความต้องการของเด็ก เพื่อนำมาใช้วางแผนและออกแบบการให้ความช่วยเหลือจนความวิกฤตนั้นเริ่มบรรเทา แล้วจึงส่งต่อไปยังภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างยั่งยืน เช่น การส่งเสริมให้เข้าเรียนโรงเรียนพระปริยัติธรรม โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ โรงเรียนในเครือข่าย เหล่ากาชาดจังหวัดขอนแก่น มูลนิธิบ้านบอยส์ทาวน์ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเรียนและการดำรงชีวิตไปได้อย่างมาก

“1” ตัวสุดท้าย หมายถึง แกนนำระดับจังหวัด หรือ Core Team เปรียบเสมือนเพลาล้อที่ผลักดันให้กระบวนการที่กล่าวมาข้างต้นขับเคลื่อนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในจังหวัดขอนแก่นนี้มีกลุ่มแกนนำสำคัญคือ กลุ่มศึกษานิเทศก์ ศธจ.ขอนแก่น และคณะ ที่ทำหน้าที่ในการส่งต่อข้อมูลความช่วยเหลือไปยังกลไกระดับปฏิบัติการ เพื่อให้การค้นหาเริ่มต้นขึ้น จากนั้นจึงดำเนินการเชิงประสาน-ติดตาม-สนับสนุนการทำงาน กับหน่วยปฏิบัติการในพื้นที่ (CM-ชุมชน-ภาคเอกชน) ให้สามารถขับเคลื่อนกลไกการทำงานของตนเองได้ นอกจากนี้กลุ่ม Core Team ยังต้องมีบทบาทเป็นผู้เสริมกำลังใจและการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกคนที่เกี่ยวข้องด้วย รวมถึงการมองหาปัจจัยของความยั่งยืนของการทำงาน

อีกประเด็นที่ ศน.กฤษณา นำเสนอ คือ กองทุน10บาทสร้างโอกาสให้น้อง โดย กสศ. ร่วมกับสี่กระทรวงหลักในจังหวัดขอนแก่น ได้แก่ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดขอนแก่น สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดขอนแก่น สำนักงานปกครองท้องถิ่นจังหวัดขอนแก่น และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นรวมทั้งภาคีเครือข่าย 26 อำเภอ และ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนช่วยกันระดมทุนเพื่อสร้างโอกาสให้กับนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และขาดโอกาสทางการศึกษาสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้กับจังหวัดขอนแก่น

โดยในการประชุมยังมีการเตรียมจัดตั้งสมัชชาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาจังหวัดขอนแก่น ในวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้ โดยมอบให้แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบงานต่อไป

ภูษณิศา ทองมหา นักประชาสัมพันธ์ปฏิบัติการ

ที่มา ศธ.360องศา

Comments are closed.

QR Code Generator | สร้างรหัส QR ของคุณได้ฟรี - สร้าง QR Code ออนไลน์อย่างง่ายและฟรี