ข่าวการศึกษา

ศธ. ดึงภาคีเครือข่ายทั่วโลก ประชุมสภาการศึกษานานาชาติ พร้อมร่วมยกระดับการศึกษาในสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนไป

31 กรกฎาคม 2567  พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมสภาการศึกษานานาชาติ เรื่องความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาในสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนไป (International Education Council Seminar on Education Competitiveness in a Globally Changing Environment) พร้อมด้วย นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการ สกศ. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ.

ตลอดจน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้บริหารระดับสูง ศธ. ผู้แทนองค์กรนานาชาติ อาทิ UNESCO, UNICEF, SEAMES, World Bank, OECD SEAMEO INNOTECH, Beijing Foreign University, สภาหอการค้าไทย วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาจากต่างประเทศ (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์) เข้าร่วม ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพ

รมว.ศธ. กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญต่อการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาล การปฏิรูปการศึกษาจะทำตามลำดับขั้นตอน กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ประกาศ นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” มีเป้าหมาย “การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ” โดยส่งเสริมให้ผู้เรียนมีศักยภาพด้านวิชาการ ยกระดับคะแนน PISA ของประเทศไทย และ “การศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต” สนับสนุนให้ผู้เรียนที่มีความสนใจหรือความถนัดให้มีรายได้ระหว่างเรียน (Learn to Earn) จบแล้วมีงานทำ สามารถพึ่งพาตนเอง เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียน ให้มีทักษะ มีความสามารถ ตรงต่อความต้องการของตลาดแรงงาน สร้างความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติ และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้อย่างมีคุณภาพ

ทุกประเทศทั่วโลกล้วนเห็นพ้องต้องกันว่าการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง รวมทั้งภายใต้สภาพแวดล้อมโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และมีความรุนแรง ส่งผลกระทบต่อสังคมทั่วโลก การศึกษาจึงต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแบบพลิกโฉม ซึ่งจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับบริบท แนวโน้ม การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากร และเทคโนโลยี

“หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกภาคส่วนจะร่วมกัน “ปฏิวัติการศึกษา แก้ปัญหาประเทศ” ร่วมมือพัฒนาการจัดการศึกษาให้ตอบสนองกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ผลจากการประชุมครั้งนี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาการจัดทำข้อเสนอนโยบายของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และคณะกรรมการสภาการศึกษา จนสามารถพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยได้อย่างแท้จริง สิ่งที่สำคัญขอให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันเพื่อให้ได้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ ที่จะนำกลับไปประยุกต์ใช้พัฒนางานของตนเอง และเป็นข้อคิดเห็นให้ ศธ. ได้นำไปใช้ประโยชน์ ในการส่งเสริมความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาในสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนไป ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป”

เลขาธิการ สกศ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ปี 2567 เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ประเทศไทยต้องรับมือกับความท้าทายทางการศึกษาในระดับนานาชาติหลายประการ อาทิ การเตรียมความพร้อมในการทดสอบ PISA ในปี 2568 การยกระดับผลการจัดอันดับ IMD และการเตรียมความพร้อมในการเข้าเป็นชาติสมาชิก OECD ซึ่งทุกประเด็นเชื่อมโยงกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งสิ้น นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก ส่งผลต่อการจัดการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง โดย สกศ. ได้สังเคราะห์บริบททุกมิติที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการศึกษา พบว่า บริบท 4 มิติที่ส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษามากที่สุดในปัจจุบัน ประกอบด้วย สังคมและวัฒนธรรม เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม สกศ. จึงได้นำผลการสังเคราะห์นี้ มาเป็นธีมหลักในการจัดการประชุมในครั้งนี้

จุดเด่นสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ คือการเชิญตัวแทนด้านการศึกษาของประเทศต่าง ๆ และผู้แทนหอการค้าต่างประเทศเข้าประชุมหารือในรูปแบบ Round Table เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการจัดการศึกษาที่จะรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน 4 ด้าน ซึ่งข้อสรุปที่ได้จากการประชุมจะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ และสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการต่อไป

“การจัดการประชุมสภาการศึกษานานาชาติ ถือเป็นการยกระดับการทำงานของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาสู่ระดับโลกมากยิ่งขึ้น และเป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยที่จะก้าวเข้าสู่ชาติสมาชิกของ OECD ซึ่งในภารกิจด้านการศึกษานั้น ศธ. ได้มอบหมายให้ สกศ. เป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินการ ซึ่งจะทำให้ประเทศต่าง ๆ เห็นศักยภาพด้านการศึกษาของประเทศไทย ที่พร้อมจะแสดงบทบาทเป็นผู้นำด้านการศึกษาในเวทีโลกอย่างเต็มภาคภูมิ โดย สกศ. ได้วางแผนต่อยอด รักษาเครือข่ายความร่วมมือทางการศึกษา สู่การจัดตั้งสภาการศึกษานานาชาติ ให้กลายเป็นองค์กรนโยบายและแผนการศึกษาที่สำคัญในการกำหนดทิศทางและแนวโน้มทางการศึกษาในระดับโลกในอนาคตต่อไป”

ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีเปิดฯ มีการปาฐกถาพิเศษ เรื่องนโยบายการศึกษาในสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยน โดย Mr. Soohyun Kim ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ในประเด็นที่ 1 Tranforming Education for Future Sustainability

Ms. Kyungsun Kim ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ในประเด็นที่ 2 The Role of UNICEF in promoting and Developing the Learning Environment for Children in Rapidly Changing World

Mr. John Arnold Sasi Siena รองผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเด็นที่ 3 Embracing Education, Science and Culture to Enhance Better Lives in Southeast Asia

จากนั้นเป็นการเสวนาเรื่องความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาในสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยนายถาวร ชลัษเฐียร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายชาติชาย นรเศรษฐาภรณ์ กรรมการพัฒนาการศึกษา หอการค้าไทย นางพรกนก วิภูษณวรรณ ผู้อำนวยการ TMA Center for Competitiveness ดำเนินรายการโดยนายสุกิจ อุทินทุ อดีตกรรมการสภาการศึกษา

ในการนี้ รมว.ศธ. และคณะ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการผลการดำเนินงานด้านการศึกษาตามภารกิจของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ อาทิ การบริหารจัดการศึกษาที่ตอบสนองต่อความต้องการของภาคธุรกิจ ทักษะทางภาษาที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ประกอบการ และการศึกษาระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาที่ตอบสนองต่อความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ เพื่อใช้ในการชี้แจงผลการดำเนินงานให้ภาคเอกชนรับทราบเพื่อประกอบการสำรวจความคิดเห็นผลการจัดอันดับ IMD ปี 2568

ที่มา : ศธ.360องศา

 

Related Articles

Back to top button

krupatom

ต้องการให้ครูประถมช่วยเหลือด้านไหนคะ ?

ให้ครูประถมช่วยค้นหา