วันศุกร์, กันยายน 27, 2024
หน้าแรกข่าวการศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูในสถานศึกษาขนาดเล็ก

แนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูในสถานศึกษาขนาดเล็ก

แนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูในสถานศึกษาขนาดเล็ก คุณหญิงกัลยา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตอบกระทู้ แนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูในสถานศึกษาขนาดเล็ก เกี่ยวกับการกำหนดนโยบาย มาตรการหรือวางแนวทางช่วยเหลือ เพื่อแก้ปัญหาสถานศึกษาขนาดเล็กขาดแคลนครู ในหลายโรงเรียนในทุกภูมิภาคของประเทศ อ่านเพิ่มเติมในบทความค่ะ

แนวทางการแก้ไขปัญหา การขาดแคลนครูในสถานศึกษาขนาดเล็ก โดย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

คุณหญิงกัลยา ตอบกระทู้ แนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูในสถานศึกษาขนาดเล็ก
เมื่อวันจันทร์ที่ 31 มกราคม 2565 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตอบกระทู้ถามเรื่อง ปัญหาการขาดแคลนครูในสถานศึกษาขนาดเล็ก ของ นายออน กาจกระโทก สมาชิกวุฒิสภา เกี่ยวกับการกำหนดนโยบาย มาตรการหรือวางแนวทางช่วยเหลือ เพื่อแก้ปัญหาสถานศึกษาขนาดเล็กขาดแคลนครู ในหลายโรงเรียนในทุกภูมิภาคของประเทศ

รมช.ศึกษาธิการ ตอบกระทู้โดยสังเขปดังนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ขอเรียนว่า คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้กำหนดเกณฑ์อัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.6/ว 23 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2563 โดยกำหนดให้สถานศึกษาที่มีนักเรียน 1-40 คน มีครูผู้สอน 1-4 คน (เดิมมี 1-2 คน) มีพนักงานราชการหรืออัตราจ้างเพื่อปฏิบัติหน้าที่สายงานสนับสนุนจำนวน 1 คน นักเรียน 41-80 คน มีครูผู้สอน 6 คน (เดิมมี 3-4 คน) มีพนักงานราชการหรืออัตราจ้างเพื่อปฏิบัติหน้าที่สายงานสนับสนุน 1 คน และนักเรียน 81-119 คน มีครูผู้สอน 8 คน (เดิมมี 5-6 คน) มีพนักงานราชการหรืออัตราจ้างเพื่อปฏิบัติหน้าที่สายงานสนับสนุน 1 คน จะเห็นได้ว่ากระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของการศึกษาในระดับต่อไป เพื่อให้มีครูผู้สอนครบชั้น ครบวิชา มีทักษะการอ่าน เขียน วิเคราะห์ คำนวณ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

กรณีสถานศึกษาขาดแคลนครู สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สามารถสรรหาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อทดแทนได้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด อาทิ การสอบแข่งขันและการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา การขอใช้บัญชีผู้สอบแข่งขันได้ การเปลี่ยนตำแหน่ง การย้าย การโอน รวมถึงการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูในสังกัดให้มีความเหมาะสมกับความต้องการจำเป็นและบริบทของส่วนราชการ

ด้วยโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีจำนวนนักเรียน 0 – 120 คน มีจำนวน 14,897 โรงเรียน จากจำนวนโรงเรียนในสังกัดสัด สพฐ. ทั้งหมด 29,349 โรง โดยคิดเป็นร้อยละ 50.76 โดยมีนักเรียนทั้งหมด จำนวน 961,004 คน อัตรากำลังข้าราชการครูที่ครองตำแหน่งอยู่จริง จำนวน 62,148 คน และมีอัตรากำลังข้าราชการครูตามเกณฑ์ ก.ค.ศ. จำนวน 93,124 คน โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กให้เท่าเทียมโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน และเพื่อสร้างความเสมอภาคในโอกาสทางการศึกษา โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมีมาตรการ ดังนี้

– แผนการเรียนรวมของโรงเรียนขนาดเล็ก เป็นนโยบายการบริหารจัดการโรงเรียนที่มีความชัดเจน สร้างความเข้าใจให้แก่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียน และชุมชนสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรทางการศึกษาที่ประหยัด คุ้มค่า ทั้งบุคลากร วัสดุอุปกรณ์ เนื่องจากการเรียนรวมทำให้มีครูสอนครบทุกชั้น มีจำนวนนักเรียนต่อห้องมากขึ้น มีบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนการสอน มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันในแต่ละโรงเรียนที่มีการเรียนรวม

– ส่งเสริมการมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งเอกชน บ้าน วัด รัฐ โรงเรียนในการจัดกระบวนการเรียนรู้ทีมีประสิทธิภาพให้กับผู้เรียน ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา

– อำนวยความสะดวกในการเข้ารับบริการทางการศึกษา ทำให้ประชากรวัยเรียนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ เช่น จัดสรรค่าพาหนะรับ-ส่งนักเรียน จัดสรรค่าบริหารจัดการรถรับ-ส่งนักเรียน เพื่อให้มีการบริหารทรัพยากรทางการศึกษา รวมถึงการบริหารอัตรากำลังคนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อ ให้โรงเรียนมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการส่งเสริมการจัดการศึกษา สามารถพัฒนาคุณภาพผู้เรียนได้อย่างเต็มตามศักยภาพในแต่ละบุคคล

โดยมีแนวทางแก้ไข ได้แก่ การประกาศนโยบายแผนการเรียนรวมของโรงเรียนขนาดเล็กเป็นวาระแห่งชาติ การจัดทำฐานข้อมูลจำนวนโรงเรียน ครู นักเรียน การจัดทำแผนการศึกษา (Education Mapping) การจัดทำแผนการเรียนรวมของโรงเรียนขนาดเล็ก ทั้งการเรียนรวมทั้งโรงเรียน การเรียนรวมบางชั้น

– เสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค
– การประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจต่อผู้เกี่ยวข้อง
– การดำเนินการขับเคลื่อนแผนการเรียนรวมของโรงเรียนขนาดเล็ก โดยคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด และเขตพื้นที่การศึกษา
– การสนับสนุนการดำเนินงานให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน

โดย สพฐ.ได้จัดทำแผนการเรียนรวมของโรงเรียนขนาดเล็ก ให้เดินทางมาเรียนรวมกับโรงเรียนคุณภาพ เพื่อเป็นการนำทรัพยากรทางการศึกษามาบูรณาการร่วมกัน

ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี ศธ.

RELATED ARTICLES

Most Popular

Recent Comments

QR Code Generator | สร้างรหัส QR ของคุณได้ฟรี - สร้าง QR Code ออนไลน์อย่างง่ายและฟรี