รมช.ศธ.‘คุณหญิงกัลยา’ มอบนโยบายการศึกษาพิเศษ “ปรับบ้านเป็นห้องเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู”

-
กลุ่มไลน์ข่าวการศึกษา
กลุ่มไลน์ข่าวการศึกษา
(15 เมษายน 2563) คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในการประชุมมอบนโยบายการดำเนินงานการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการและผู้ด้อยโอกาส ให้กับสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษทั่วประเทศ ผ่านระบบ Video Conference โดยมีนายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการ กพฐ. นายวุฒิศักดิ์ เหล็กคำ ผอ.สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 กระทรวงศึกษาธิการ
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช กล่าวถึงนโยบายสำคัญในขณะนี้ คือ การเตรียมการรองรับการเปิดภาคเรียนโดยใช้การเรียนการสอนทางไกล ซึ่ง ศธ. มีความคุ้นเคยกันมาพอสมควรแล้ว ตามที่เรียกกันว่า “ครูตู้” โดยต้องทำให้เข้มข้นมากขึ้น
ขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมกระบวนการบริหารจัดการการศึกษาพิเศษด้วยนโยบาย “กระทรวงศึกษาธิการไทย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” โดยมี Platform ของ ศธ. เอง เพื่อเป็นเวทีเชื่อม 176 หน่วยงาน และโยงคนพิการทั้งประเทศให้สามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา การพัฒนาตนเองได้มากขึ้น ตามแนวทาง “ปรับบ้านเป็นห้องเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู” โดยที่ Platform นี้จะสามารถทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครองเรียนรู้วิธีการดูแล พัฒนาผู้เรียนที่พิการ ตามแบบต่าง ๆ ต่อไปได้ ทั้งยังสามารถบรรจุสื่อการเรียนการสอนออนไลน์ การให้คำปรึกษา แนะนำ และเรื่องอื่น ๆ ไปยังหน่วยงาน สถานศึกษาในสังกัด ศธ. ได้ด้วย
ขณะนี้ ศธ. กำลังทำ Platform ของโรงเรียนที่จัดการศึกษาพิเศษ คือ เมื่อค้นหาเข้าไปก็จะทราบข้อมูลว่าจังหวัดนี้มีคนพิการประเภทใดบ้าง มีกี่คน บ้านอยู่ที่ไหน เป็นต้น โดยดำเนินการได้แล้ว 3 จังหวัด และจะขยายผลให้ครบทุกจังหวัด
นอกจากนี้ ศธ.ยังมีแนวทางสนับสนุนให้มีครูต่อจำนวนนักเรียนอย่างเหมาะสม รวมถึงเรื่องการสอบเลื่อนวิทยฐานะและการบรรจุครูการศึกษาพิเศษ เนื่องจากคนที่ทำงานเกี่ยวกับการศึกษาพิเศษจะต้องอยู่ประจำและดูแลเด็กเหมือนเป็นพ่อแม่
ดังนั้น หน้าที่และความรับผิดชอบจะมีความแตกต่างจากครูประเภทอื่น จึงอยากสนับสนุนให้มีหนทางที่จะได้เลื่อนวิทยฐานะและบรรจุ โดยการแข่งขันกันเอง ตามที่สำนักงาน ก.ค.ศ. เห็นชอบหลักการให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 ซึ่งเลขาธิการ กพฐ. ก็ได้เน้นย้ำว่าจะต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส เพื่อให้ได้ครูที่มีความสามารถและเหมาะสม
สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ เป็นหน่วยงานสังกัด สพฐ. โดยมีการกิจหลัก คือ จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กพิการและเด็กด้อยโอกาสผ่านการให้บริการในรูปแบบที่หลากหลาย และมีคุณภาพ มีทักษะชีวิตที่ดี สามารถพึ่งตนเองได้ อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข มีศักดิ์ศรี มีคุณภาพชีวิตที่ดี
มีสถานศึกษาในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ รวมทั้งสิ้น 16 แห่ง ประกอบด้วย 1) โรงเรียนการศึกษาสงเคราะห์ จำนวน 51 แห่ง 2) โรงเรียนเฉพาะความพิการ จำนวน 48 แห่ง และ 3) ศูนย์การศึกษาพิเศษ จำนวน 77 แห่ง ทั่วประเทศ
ที่มา : ศธ 360