วันจันทร์, กรกฎาคม 1, 2024
หน้าแรกข่าวการศึกษาฝึกความคิดสร้างสรรค์ ที่ครูไม่ต้องอ่านและเขียนกระดาน กับห้องเรียนฝึกคิดสร้างสรรค์

ฝึกความคิดสร้างสรรค์ ที่ครูไม่ต้องอ่านและเขียนกระดาน กับห้องเรียนฝึกคิดสร้างสรรค์

 

ครูประถม ขอนำบทความดีดีมาฝากทุกท่านที่อยากฝึกความคิดสร้างสรรค์กับห้องเรียน หากใครมีบทความดีดีที่อยากแบ่งปัน  ท่านสามารถทักมาหรือติดตามข่าวผ่านทาง ช่องทางดังต่อไปนี้

เฟสบุ๊คแฟนเพจ  ครูประถม.คอม
ไลน์แอด ครูประถม.คอม

ทักมาพูดคุย/แลกเปลี่ยประสบการณ์กันบ่อยๆนะคะ

ในอนาคต เราจะไม่ได้แข่งกันด้วยความรู้ แต่จะแข่งกันด้วยความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ การเรียนรู้ที่ไม่จบสิ้น ดังนั้นห้องเรียนและครู เป็นอีกหนึ่งจุดสตาร์ทสำคัญที่จะทำให้เด็กออกตัวได้ดี วิ่งเร็ว และถึงเส้นชัยในอนาคต ซึ่งคุณครูอาจจะต้องผละจากการอ่านตำราและเขียนกระดานหน้าชั้นเรียน หันมาออกแบบกระบวนการจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนลงมือปฏิบัติเอง

เรื่อง: บุญชนก ธรรมวงศา

Creativity and Innovation หรือทักษะการคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม กำลังเป็นทักษะที่มากกว่าแค่สำคัญ เพราะมันคือสุดยอดพื้นฐานเคล็ดวิชาที่จอมยุทธ์ต้องมีติดตัวไว้ท่องยุทธจักรแห่งศตวรรษใหม่

การคิดสร้างสรรค์ไม่ได้กระจุกอยู่แต่ในบางศาสตร์อย่างวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี หรือศิลปะ แต่มันมีอยู่ในทุกด้านของชีวิตประจำวันเรา ทั้งวรรณกรรม บันเทิง การตลาด ตั้งแต่คัพเค้กหน้าตาน่ารักในซูเปอร์มาร์เก็ต การ์ตูนสนุกๆ เมคอัพ หรือแม้กระทั่ง ไม้เซลฟี!

คิด + สร้างสรรค์ ให้เป็น “นวัตกรรม”

ความเป็นจริงในปัจจุบันชี้ว่า ไม่ใช่เพียงเพื่อความสำเร็จที่จะได้รับ แต่การคิดสร้างสรรค์ให้เป็นนวัตกรรมคือหนทางอยู่รอดทางธุรกิจและสังคมขององค์กรทุกสาขาอาชีพ

รวิศ หาญอุตสาหะ CEO แบรนด์ศรีจันทร์ ตัวอย่างนักคิดนอกกรอบที่ประสบความสำเร็จในการพลิกโฉมธุรกิจตกทอดของครอบครัวซึ่งครั้งหนึ่งเคยหายใจติดขัดกลับมาคืนชีพและอยู่รอดในตลาดเครื่องสำอาง กล่าวไว้ในบทความ ‘3 หลักคิด เปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นธุรกิจสร้างรายได้’ เผยแพร่บนเว็บไซต์ The Momentum ว่าลำพังไอเดียสร้างสรรค์ที่สดใหม่ มีเอกลักษณ์หรือเป็นประโยชน์แง่หนึ่งแง่ใดอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ แต่มันต้องสามารถออกเดินต่อไปเป็นรูปธรรมและใช้ประโยชน์ได้จริง

Creativity คือจุดสตาร์ท ระหว่างทางต้องกลั่นกรอง พลิกแพลง แก้ไขปรับปรุงครั้งแล้วครั้งเล่า และลงมือทำ คือ Implementation จนสุดท้ายไปถึงเส้นชัยปลายทางคือ Innovation

สมการคือ Innovation = Creativity + Implementation

สิ่งที่โลกกำลังตามหา

แจ๊ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบาและนักธุรกิจผู้ทรงอิทธิพลโลกที่สุดคนหนึ่งมักเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการปฏิรูปการศึกษาให้เท่าทันกับความท้าทายใหม่ๆ ของโลกเทคโนโลยีไว้ในสุนทรพจน์ต่างๆ ว่า

“ในอนาคต 30 ปีข้างหน้า ลูกหลานของเราจะตกงานจากการเข้ามาแทนที่ของ AI เราต้องชนะสิ่งที่เครื่องจักรทำได้ สิ่งที่เราต้องสอนเด็กให้มากคือทักษะการคิดและทักษะการทำงานร่วมกัน หัวใจ 3 อย่างคือ ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดเชิงนวัตกรรม (กระบวนการต่อยอดให้ไอเดียออกมาเป็นชิ้นงาน) และ 3Q คือ EQ, IQ และ LQ (L คือ Love)”

“โลกกำลังเปลี่ยนจากการทำให้ตัวเองดีขึ้น เป็นการช่วยเหลือคนอื่นให้มากขึ้น..และถ้าเราไม่สร้างสรรค์พอ หรือต่อยอดไม่เป็น จะเอาตัวรอดยากมากในศตวรรษนี้ เราต้องคิดถึงอนาคต ทำสิ่งที่แตกต่างและเหมาะสม ทำอย่างไรจึงจะช่วยผู้อื่นมากกว่าตนเองได้ โลกธุรกิจโดยแท้จริงนั้น ทำเงินจากการแก้ปัญหาให้กับผู้อื่นต่างหาก

“ในอนาคต เราจะไม่ได้แข่งกันด้วยความรู้ แต่เราจะแข่งกันด้วยความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ การเรียนรู้ที่ไม่จบสิ้น และการคิดอย่างเสรีไม่ยึดติด …ดังนั้น นับจากนี้ เราจะไม่ได้ใช้ความรู้และเครื่องจักรขับเคลื่อนโลกอีกต่อไป เราต้องใช้ปัญญา ประสบการณ์ และที่สำคัญที่สุด ความรู้สร้างสรรค์ นี่คือสิ่งที่โลกต้องใส่ใจมากที่สุด”

(จาก YouTube -Jack Ma: Creativity, innovation and 3q’s is the key against machines และ The Future is Creativity Driven)

โลกอนาคตที่เด็กและเยาวชนกำลังก้าวไป มีความท้าทายและปัญหาใหม่ๆ รออยู่ แม้เทคโนโลยีจะเป็นเครือข่ายโยงใยครอบไปทุกสาขาวิชาชีพ แต่สิ่งที่โลกต้องการ คือนักคิด นักสร้างสรรค์ ที่แก้ปัญหาให้ส่วนรวมแบบมนุษย์-มนุษย์ที่มีหัวใจ อารมณ์ และความรู้สึกได้

ห้องเรียนฝึกคิดสร้างสรรค์

ในงานวิจัยเรื่อง ‘Building Creative Thinking in the Classroom’ เกรกอรีและคณะ (Gregory et al.) สรุปว่า การจะสอดแทรกความคิดสร้างสรรค์เข้าไปในห้องเรียนทำได้โดย ครูผู้สอนจัดกระบวนการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรง (experienced-based learning) ให้นักเรียนตั้งคำถาม คิด และค้นคว้าทดลองหาคำตอบเอง จนเมื่อเรียนรู้และเข้าใจองค์ความรู้พื้นฐานแล้ว ค่อยตั้งโจทย์ปัญหาบางอย่าง แล้วกระตุ้นให้นักเรียนลองเชื่อมโยงเนื้อหาเหล่านั้นไปยังบริบทที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลย เพื่อฝึกนักเรียนให้ใช้องค์ความรู้หลากหลายด้านอย่างยืดหยุ่น รู้จักพลิกแพลง จากนั้นร่วมกันประเมินแนวทางหรือผลงานเหล่านั้นว่าเหมาะสม และแก้ไขเพิ่มเติมให้ดีขึ้นได้หรือไม่

องค์ประกอบสนับสนุน 3 ข้อที่ต้องใส่เข้าไปในห้องเรียนสร้างสรรค์คือ

  1. การทำงานร่วมกัน (Collaboration)
  2. การเปิดรับและแลกเปลี่ยนไอเดียซึ่งกันและกัน (Exposure to Ideas) การคิดแก้ปัญหาเป็นกลุ่ม ช่วยขยายไอเดียของทั้งตนเองและผู้อื่นให้กว้างไกลขึ้นได้
  3. ประเมินไอเดียร่วมกัน (Evaluation of Ideas) ว่าวิธีแก้ปัญหาที่คิดขึ้้น (Solution) เหมาะหรือไม่เหมาะกับบริบทใดบ้าง สามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้อีกหรือไม่
ห้องเรียนฝึกคิดสร้างสรรค์ของนิโคลา วิทตัน (Nicola Whitton)

นิโคลา วิทตัน อาจารย์สอนด้านการศึกษาแห่ง Manchester Metropolitan University ได้กล่าวไว้ในงานวิจัยเรื่อง ‘To Improve Education, We Need to Incorporate Imagination’ เขาเชื่อว่า ปัจจัยที่สนับสนุนให้ผู้เรียนมีทักษะการคิดสร้างสรรค์ได้ คือ ครูผู้สอนต้องให้นักเรียนรู้สึกสนุกกับการเรียนรู้เนื้อหาที่สอน และเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมร่วมกันและเกิดความสนุกสนานระหว่างการเรียนรู้

นิโคลายกตัวอย่างโปรเจ็คต์ The Eduscapes ซึ่งเป็นเกมที่มหาวิทยาลัยของเธอออกแบบขึ้นด้วยแนวคิดดังกล่าว โดยนักเรียนแบ่งกลุ่มกันไปอยู่ในพื้นที่สมมุติ และช่วยกันคิดหาทางแก้โจทย์ปริศนาด้วยความรู้ด้านต่างๆ เพื่อหาทางออกจากพื้นที่สมมุตินั้นให้ได้ นอกจากจะสนุกสนาน เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกันแล้ว กิจกรรมนี้ยังปลุกทักษะที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อย่าง จินตนาการ การสมมุติสถานการณ์ การอดทนพยายาม หรือการยอมรับความล้มเหลวอีกด้วย

ห้องเรียนฝึกคิดสร้างสรรค์ของ ดอตตี คอร์แบร์ (Dotty Corbiere)

สำหรับดอตตี คอร์แบร์ อาจารย์สอนวิชาคณิตศาสตร์ เทคโนโลยีและหุ่นยนต์แห่ง The Meadowbrook School ซึ่งเป็นโรงเรียนเฉพาะทางด้านเทคโนโลยี เธอออกแบบให้มีการสอดแทรกความรู้ทางเทคโนโลยีเข้าไปในชั้นเรียนตั้งแต่ระดับประถม กระตุ้นให้นักเรียนเชื่อมเนื้อหาความรู้ที่เรียนเข้ากับกิจกรรมที่ให้พวกเขารู้สึกสนุกด้วยการทดลองคิด ลงมือปฏิบัติเอง ดอตตีเชื่อว่าห้องเรียนที่ให้นักเรียนสร้างประสบการณ์และเรียนรู้เองอย่างไม่น่าเบื่อจะช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขาได้

ตัวอย่างเช่น ดอตตีให้นักเรียนเกรด 1 เรียนรู้เรื่องคุณสมบัติของสสารผ่านการทำขนมโดนัท ลองใส่ส่วนผสม เกลือ น้ำ แป้งในปริมาณที่แตกต่างกัน มีการใส่มิติทางศิลปะเข้าไปให้นักเรียนรู้จักผสมสีใส่โดนัท แม่สีคืออะไร สีที่ได้จากการผสมสีมีอะไรบ้าง จากนั้นเก็บข้อมูลสีที่ได้แล้วบันทึกเป็นกราฟแสดงผล และให้นักเรียนนำแป้งโดนัทที่ได้กลับบ้านไปอบ เพื่อดูผลว่าจากอัตราส่วนผสมที่ลองทำแป้งเนียนเข้ากันได้ไหม กรอบร่วนหรือเหนียวไปหรือไม่

ห้องเรียนฝึกคิดสร้างสรรค์ของเฮเธอร์ วอล์คเกอร์ ( Heather Walker)

เฮเธอร์ วอล์คเกอร์ และคณะครูผู้สอนโรงเรียน Feaster Charter School ร่วมกันออกแบบให้การเรียนการสอนโฟกัสที่นักเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์เป็นหลัก ยกตัวอย่างชั้นเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ในหัวข้อ ‘ผลกระทบของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม’ เมื่ออธิบายหัวข้อที่เกี่ยวข้องให้นักเรียนฟังเช่น ประเภทของมลพิษและการใช้แหล่งพลังงานธรรมชาติ ครูจะเปิดพื้นที่ให้นักเรียนช่วยกันหารือและแลกเปลี่ยนความคิดกันเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ จากนั้นให้นักเรียนร่วมกันคิดว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมใดที่เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ จะช่วยแก้ปัญหานั้นได้

ขั้นตอนกิจกรรมในห้องเรียนสร้างสรรค์ของเฮเธอร์คือ

  • ตั้งคำถาม (เช่น เราจะลดก๊าซคาร์บอนลงได้ด้วยวิธีใดบ้าง)
  • เสนอทางออกที่อาจเป็นไปได้
  • วางแผนเค้าโครงและวิธีสร้างเครื่องมือที่จะมาใช้แก้ปัญหา
  • ทดลองสร้างเครื่องมือหรือนวัตกรรมตามที่วางแผนไว้ (prototype)
  • ประเมินคุณภาพ
  • ถอดบทเรียนว่าสิ่งใดทำเหมาะสมแล้วและสิ่งใดควรปรับปรุงแก้ไข

อาจกล่าวได้ว่า การศึกษาเท่านั้นที่จะกำหนดศักยภาพของเยาวชนในอนาคตได้ ศักยภาพที่เรากำลังพูดถึงคือ ความสามารถในการคิดแก้ปัญหาที่แตกต่าง และสร้างสรรค์ สิ่งที่จะมาเติมเต็มความต้องการไม่ใช่ในแง่ของความสะดวกสบายของการดำเนินชีวิตเพียงอย่างเดียว แต่คือการช่วยเหลือสังคมและโลกใบนี้ให้มีความสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน

คุณลักษณะของครูผู้สอนที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการบ่มเพาะความพร้อมของเยาวชน ต้องเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ย่ำอยู่ในความรู้เก่า หมั่นเติมความรู้หรือหาแนวทางใหม่ๆ ที่สามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการสอนโดยเน้นกระตุ้นทักษะความคิดสร้างสรรค์และการทำงานร่วมกัน (Collaboration) เป็นหลัก

หนทางหนี่งที่จะเปลี่ยนแปลงแน่นอนคือ ล้มเลิกการอ่านจากตำราและเขียนกระดานหน้าชั้นเรียน แล้วหันมาออกแบบกระบวนการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง (Self-Study) หรือเรียนรู้ผ่านโครงการหรือโครงงาน (Project-Based Study) ร่วมกับกิจกรรมอื่นๆ ด้วย

อ้างอิง:
Plucker A. Jonathan et al. What We Know About CREATIVITY: Part of 4Cs Research Series.
Partnership for 21st Century Skills.
Gregory et al. Building creative thinking in the classroom: From research to practice. International Journal
of Educational Research, 62, 43-50.
Nicola Whitton. (2018). To improve education, we need to incorporate imagination. available from
www.weforum.org
Jack Ma. Creativity, innovation and 3q’s is the key against machines. available from www.youtube.com
Jack Ma. The Future is Creativity Driven. available from www.youtube.com
รวิศ หาญอุตสาหะ. (2017). 3 หลักคิด เปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นธุรกิจสร้างรายได้.

ที่มา: themomentum.co

RELATED ARTICLES

Most Popular

Recent Comments

QR Code Generator | สร้างรหัส QR ของคุณได้ฟรี - สร้าง QR Code ออนไลน์อย่างง่ายและฟรี