Take a fresh look at your lifestyle.

การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

ความหมายของการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เป็นกิจกรรมที่จัดอย่างเป็นกระบวนการด้านรูปแบบ วิธีการที่หลากหลาย ในการพัฒนาผู้เรียนด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์และสังคม มุ่งส่งเสริมเจตคติคุณค่าชีวิต ปลูกฝังคุณธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์ ส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักและเข้าใจตนเอง สร้างจิตสำนึกในธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ปรับตัวและปฏิบัติตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ประเทศชาติ และดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข

องค์ประกอบของการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

มีการกำหนดวัตถุประสงค์และแนวปฏิบัติทีชัดเจนเป็นรูปแบบ
จัดให้เหมาะสมกับวัย วุฒิภาวะ ความสนใจ ความถนัด และความสามารถของผู้เรียน
บูรณาการวิชาการกับชีวิตจริง ให้เรียนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ใช้กระบวนการกลุ่มในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ ฝึกให้คิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์จิตนาการ ที่เป็นประโยชน์และสัมพันธ์กับชีวิตในแต่ละช่วงวัยอย่างต่อเนื่อง
จำนวนสมาชิกมีความเหมาะสมกับลักษณะของกิจกรรม
มีการกำหนดเวลาในการจัดกิจกรรมให้เหมาะสม สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และเป้าหมายของสถานศึกษา

ผู้เรียนเป็นผู้ดำเนินการ มีครูเป็นที่ปรึกษา ถือเป็นหน้าที่และงานประจำโดยคำนึงถึงความปลอดภัย

ยึดหลักการมีส่วนร่วม โดยเปิดโอกาสให้ครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน มีส่วนร่วมในการจักกิจกรรม
มีการประเมินผลการปฏิบัติกิจกรรม โดยวิธีการที่หลากหลายและสอดคล้องกับกิจกรรมอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยให้ถือว่าเป็นเกณฑ์การประเมินผลการผ่านช่วงชั้นเรียน

ความสำคัญของการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 กำหนดแนวการจัดการศึกษา โดยยึดหลักว่า ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุดกระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ โดยจัดเนื้อหาสาระ และกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียน คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลฝึกทักษะกระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และการประยุกต์ความรู้มาใช้ในการป้องกันแก้ปัญหาและเรียนรู้จากประสบการณ์จริง กอปรกับ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมและเทคโนโลยี ก่อให้เกิดทั้งผลดีและผลเสียต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบันของบุคคล ทำให้เกิดความยุ่งยาก ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิถากรดำเนินชีวิตให้สามารถดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณค่ามีศักดิ์ศรี และมีความสุข
หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนดให้มีสาระการเรียนรู้ 8กลุ่ม และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัด ให้ผู้เรียนได้พัฒนาความสามารถของตนเองตามศักยภาพ มุ่งเน้นเพิ่มเติมจากกิจกรรมที่ได้จัดให้ผู้เรียนตามกลุ่มสาระที่ 8 กลุ่ม การเข้าร่วมและปฏิบัติกิจกรรมที่เหมาะสมร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข กับกิจกรรมที่เลือกด้วยตนเอง ตามความถนัด และความสนใจอย่างแท้จริง การพัฒนาที่สำคัญ คือ การพัฒนาองค์รวมของความเป็นมนุษย์ให้ครบทุกด้าน ทั้งร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม ให้เป็นผู้มีศีลธรรม จริยธรรม มีระเบียบวินัย และมีคุณภาพ ปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกของการทำประโยชน์เพื่อสังคม และประเทศชาติ
จากองค์ประกอบของกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียนมีความสำคัญต่อการพัฒนาเยาวชนของชาติให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์อย่างยิ่ง เพราะกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนจัดขึ้นเพื่อมุ่ง ส่งเสริมให้ผู้เรียนค้นพบและใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ รู้จักเลือกและตัดสินใจอย่างมีเหตุผลเหมาะสมกับ ตนเอง วางแผนชีวิตและอาชีพได้อย่างมีคุณภาพ สามารถปรับตัวได้ เป็นผู้มีศีลธรรม จริยธรรม และวินัย มีจิตสำนึกที่รับผิดชอบต่อตนเอง ส่วนรวม สิ่งแวดล้อม ครอบครัว และสังคม ตลอดจนเกื้อหนุนการเรียนรู้ตาม
สาระการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่มอีกด้วย

รูปแบบการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน แบ่งเป็น 3  ลักษณะดังนี้
          กิจกรรมแนะแนว  เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียนให้รู้จักตนเอง รู้รักษ์สิ่งแวดล้อม สามารถคิดตัดสินใจ  คิดแก้ปัญหา กำหนดเป้าหมาย  วางแผนชีวิตทั้งด้านการเรียนและอาชีพ  สามารถปรับตนได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังช่วยให้ครูรู้จักและเข้าใจผู้เรียนทั้งยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ผู้ปกครองในการมีส่วนร่วมพัฒนาผู้เรียน
          กิจกรรมนักเรียน เป็นกิจกรรมที่มุ่งพัฒนาความมีระเบียบวินัยความเป็นผู้นำผู้ตามที่ดีความรับผิดชอบ  การทำงานร่วมกัน การรู้จักแก้ปัญหา การตัดสินใจสอดคล้องกับความสามารถ ความถนัดและความสนใจของผู้เรียน ให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติด้วยตนเองในทุกขั้นตอน ได้แก่  การศึกษาวิเคราะห์ วางแผน ปฏิบัติตามแผน  ประเมินและปรับปรุงการทำงาน เน้นการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มตามความเหมาะสมและสอดคล้องกับวุฒิภาวะของผู้เรียน บริบทของสถานศึกษาและท้องถิ่น กิจกรรมนักเรียนประกอบด้วย
– กิจกรรมลูกเสือ  เนตรนารี ยุวกาชาด ผู้บำเพ็ญประโยชน์ และนักศึกษาวิชาทหาร
– กิจกรรมชุมนุม ชมรม
          กิจรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์  เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนบำเพ็ญตน ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม  ชุมชน  และท้องถิ่นตามความสนใจในลักษณะอาสาสมัคร เพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบ ความดีงาม  ความเสียสละต่อสังคม มีจิตสาธารณะ เช่น กิจกรรมอาสาพัฒนาต่าง ๆ กิจกรรมสร้างสรรค์สังคม
ขั้นตอนการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
1. ประชุมชี้แจงคณะครู  นักเรียน  ผู้ปกครอง เพื่อสร้างความเข้าใจ
2. สำรวจข้อมูลความพร้อมของสถานศึกษา ชุมชน ท้องถิ่น ปัญหาและความต้องการของนักเรียน
3. วางแผนร่วมกัน จัดทำแผนงาน/โครงการ
4. ปฏิบัติกิจกรรมตามแผนงาน/โครงการที่กำหนด
5. นิเทศ ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติกิจกรรม
6. สรุป รายงานผลการปฏิบัติกิจกรรม

การประเมินผลการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

1. ประเมินการร่วมกิจกรรมด้วยวิธีการที่หลากหลาย ตามสภาพจริงให้ได้ผลการประเมินที่ถูกต้อง
2. ครูที่ปรึกษากิจกรรม
2.1 ต้องดูแลให้เกิดคุณลักษณะตามวัตถุประสงค์ของกิจกรรม
2.2 ต้องบันทึกและรายงานเวลาและพฤติกรรมการเข้าร่วมกิจกรรม
2.3 ต้องศึกษา ติดตามนักเรียนกรณีไม่เข้าร่วมกิจกรรม
3. ผู้เรียน
3.1 ปฏิบัติกิจกรรมให้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์
3.2 มีหลักฐานการเข้าร่วมกิจกรรมไม่น้อยกว่า ๘๐% หรือตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนดพร้อม
ทั้งแสดงผลการปฏิบัติกิจกรรมและพัฒนาการด้านต่าง ๆ
3.3 ถ้าไม่เกิดคุณลักษณะตามวัตถุประสงค์ ต้องปฏิบัติกิจกรรมเพิ่มเติมตามที่ครูที่ปรึกษา
กิจกรรมมอบหมาย หรือให้ความเห็นชอบตามที่ผู้เรียนเสนอ
3.4 มีการประเมินตนเองและเพื่อนร่วมกิจกรรม
4. ผู้ปกครอง
4.1 ให้ความร่วมมือในการติดตามพัฒนาการของผู้เรียนกับสถานศึกษาเป็นระยะๆ
4.2 บันทึกความเห็น สรุปพัฒนาการและการปฏิบัติกิจกรรมของนักเรียน
5. เกณฑ์การผ่านกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
5.1 ต้องเข้าร่วมกิจกรรมทั้งกิจกรรมแนะแนว และกิจกรรมนักเรียน อย่างน้อย ๘๐% หรือตาม
เกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด
5.2 ผู้เรียนผ่านจุดประสงค์ที่สำคัญของแต่ละกิจกรรม

ประโยชน์ของการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

1. ผู้เรียนได้รับประสบการณ์หลากหลาย เกิดความรู้ ( knowledge ) ความรู้ชำนาญทั้งวิชาการ ( Academic ) และวิชาชีพ ( Professional )
2. ผู้เรียนค้นพบความสนใจ ( Interest )และความถนัดของตนเอง ( aptitude )เห็นช่องการในการสร้างงานอาชีพในอนาคต
3. ผู้เรียนเห็นคุณค่าของความรู้ สามารถนำเอาประสบการณ์ ( Experience ) เพื่อการพัฒนาตนเองและการประกอบอาชีพ
4. ผู้เรียนพัฒนาบุคลิก เจตคติ ค่านิยมในการดำเนินชีวิต เสริมสร้างศีลธรรมและจริยธรรม
5. ผู้เรียนมีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบ ทำประโยชน์เพื่อสังคมและประเทศชาติ

 

กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

 

นอกจากนี้คุณยังอาจต้องการ

ความเห็นถูกปิด

QR Code Generator | สร้างรหัส QR ของคุณได้ฟรี - สร้าง QR Code ออนไลน์อย่างง่ายและฟรี