Take a fresh look at your lifestyle.

EF (Executive Functions) ทักษะสมองเพื่อชีวิตที่สำเร็จ…ในวัยอนุบาล

ในประเทศไทยมี รศ.ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาและคณะจากศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ศึกษาวิจัยและรวบรวมงานวิจัยจากต่างประเทศ และสถาบันอาร์แอลจีได้จัดการความรู้และพัฒนาให้ความรู้  EF (Executive Functions)เป็นที่เข้าใจง่าย โดยมุ่งหวังให้พ่อแม่และบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะปฐมวัยศึกษาสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาเด็กได้อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยมุ่งมั่นว่า EF (Executive Functions) จะเป็นองค์ความรู้หนึ่งที่จะร่วมส่งเสริมการปฏิรูปการศึกษาของไทยที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้

นางสุภาวดี หาญเมธี ประธานสถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) เปิดเผยว่า EF (Executive Functions) เป็นกระบวนการทางความคิด (Mental process) ในสมองส่วนหน้าที่เกี่ยวข้องกับการคิด ความรู้สึก และการกระทำ เช่น การยั้งใจคิดไตร่ตรอง การควบคุมอารมณ์ การยืดหยุ่นทางความคิด การตั้งเป้าหมาย วางแผน ความมุ่งมั่น การจดจำและเรียกใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดลำดับความสำคัญของเรื่องต่างๆ และการทำสิ่งต่างๆ อย่างเป็นขั้นเป็นตอนจนบรรลุความสำเร็จ ซึ่งเป็นทักษะที่มนุษย์เราทุกคนต้องใช้ และมีความสำคัญยิ่งต่อทั้งความสำเร็จในการเรียน การทำงาน รวมทั้งการมีชีวิตครอบครัว โดยทักษะ EF นี้ นักวิชาการระดับโลกชี้แล้วว่าสำคัญกว่า IQ ทั้งนี้ มีงานวิจัยชัดเจนว่า ช่วงวัย 3-6 ปีนี้ เป็นช่วงเวลาทองของชีวิตในการพัฒนาทักษะ EF ให้กับเด็ก เพราะสมองจะมีการพัฒนาทักษะ EF ได้ดีที่สุดในช่วงเวลานี้ พ้นจากช่วงเวลานี้ไปถึงวัยเรียน วัยรุ่น หรือวัยผู้ใหญ่ตอนคตแม้จะยังพัฒนาได้ แต่ก็จะไม่ได้ดีเท่ากับช่วงปฐมวัย

EF (Executive Functions) ทักษะสมองเพื่อชีวิตที่สำเร็จ…ในวัยอนุบาล

เมื่อให้เด็กวัยประมาณ ๓-๕ ปี เข้าไปอยู่ในห้องทีละคน โดยมีผู้ใหญ่วางขนมมาร์ชมาลโลว์หนึ่งชิ้นไว้ข้างหน้าเด็กคนนั้นและบอกเด็กน้อยว่าจะออกไปข้างนอก ๑๕ นาที ถ้ากลับเข้ามาเด็กน้อยไม่กินขนมมาร์ชมาลโลว์ที่วางอยู่ เด็กน้อยจะได้รางวัลด้วยขนมอีกชิ้นหนึ่ง
จากงานวิจัยชิ้นนี้ พบว่า เด็กที่สามารถยับยั้งใจไม่กินขนมมาร์ชมาลโลว์ได้นั้น มีผลการเรียนที่ดีกว่า สามารถเข้ากับคนอื่นได้ดีกว่า และจัดการกับความเครียดได้ดีกว่าเด็กที่ไม่สามารถห้ามใจตัวเองไม่ให้กินขนมมาร์ชมาลโลว์ได้ การยับยั้งชั่งใจนี้ยังเชื่อมโยงกับสุขภาพของเด็กๆ เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ด้วย นอกจากนี้ เด็กที่สามารถยับยั้งชั่งใจได้ยังส่งผลดีต่อทักษะทางสังคม มีนิสัยการวางแผนที่ดีกว่าด้วย

ตรงตาม “ทฤษฎีมาร์ชมาลโลว์” งานวิจัยชิ้นสําคัญของ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ถูกหยิบยกมาเป็นตัวอย่าง ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ทักษะสมองเพื่อชีวิตที่สำเร็จ : Executive functions (EF)” สำหรับผู้ปกครองช่วงชั้นอนุบาลเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๘
ซึ่งได้รับความกรุณาจากคุณสุภาวดี หาญเมธี ประธานรักลูกเลิร์นนิ่ง กรุ๊ป และ ครูก้า – กรองทอง บุญประคอง รองประธานกรรมการบริหารโรงเรียนเพลินพัฒนา และผู้อำนวยการโรงเรียนจิตตเมตต์ มาร่วมเป็นวิทยากร พร้อมทั้งทำกิจกรรมเพื่อให้ผู้ปกครองช่วงชั้นอนุบาลได้เข้าใจ EF อย่างเห็นเป็นรูปธรรม
EF เป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับขั้นตอน เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงที่หลากหลาย ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

ในเด็กเล็กสามารถฝึกฝนทักษะ E F ทั้ง ๙ ด้านในชีวิตประจำวันได้ เช่นการฝึกฝนการออกกำลังกาย ฝึกควบคุมความต้องการ สร้างวินัยให้รู้จักรอ เข้าคิว ให้รู้จักควบคุมอารมณ์ตนเอง ฝึกเข้าใจความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น

มีกิจกรรมได้ฝึกความจำ ฝึกสมาธิ ให้เด็กได้มีโอกาสออกไปเผชิญสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ พบเพื่อนใหม่ ไม่อยู่ในบ้านเท่านั้น

หลีกเลี่ยงของเล่นสำเร็จรูป ที่ไม่ช่วยให้เด็กคิดค้นแก้ปัญหา ควรจัดกิจกรรมการเล่นที่หลากหลาย โดยเฉพาะได้เรียนรู้และลงมือทำด้วยตนเอง

ซึ่งในกระบวนการเหล่านี้เด็กๆ จะได้ฝึกการวางเป้าหมาย การจัดลำดับก่อนหลัง การอดทนพากเพียร สังเกตเรียนรู้ขั้นตอนการทำงาน เมื่อเจอปัญหาได้ฝึกคิดหาทางออกใหม่ๆ รวมทั้งเมื่อเสร็จแล้วมีโอกาสฝึกประเมินผลอย่างง่ายๆ ว่าดี ไม่ดีอย่างไร และให้กำลังใจเมื่อเด็กทำสำเร็จ

 

ขอบคุณที่มา warunyaaomy

ความเห็นถูกปิด

QR Code Generator | สร้างรหัส QR ของคุณได้ฟรี - สร้าง QR Code ออนไลน์อย่างง่ายและฟรี