Take a fresh look at your lifestyle.

บทบาทของครูในการปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์

ความคิดสร้างสรรค์ บทบาทของครู เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก ความเจริญรุ่งเรือง และสิ่งแปลกใหม่ที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้ ล้วนเกิดจากความคิดที่แตกต่างจากผู้คนทั่วไป เกิดจากฝันและจินตนาการของผู้กล้าที่ไม่กลัวความต่าง ด้วยความสำคัญดังกล่าวความคิดสร้างสรรค์จึงถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และถูกบรรจุในหลักสูตรของทุกระดับ

ครูเป็นบุคคลสำคัญ (คนหนึ่ง) ที่จะทำให้ความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ พัฒนาขึ้น โดยการกระตุ้นให้เด็กๆ มีจินตนาการ มีฝัน (ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นไปไม่ได้ในเดี๋ยวนั้น) มีความคิดใหม่ๆ แปลกๆ แหวกแนวไม่เหมือนใคร อีกทั้งมีความคิดที่มีมิติ มีความคิดที่มีลักษณะหลากหลายมุมมองและมีความละเอียดในแง่มุมที่คิดนั้น

การที่จะทำให้ความคิดในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นนั้น ครูจะต้องตระหนักในบทบาทการเป็นผู้ช่วย (ขอย้ำว่าเป็นเพียงแค่ผู้ช่วยเท่านั้นจริงๆ ห้ามเป็นผู้ลงมือลงแรง ลงหัวคิดเสียเอง) แต่ครูจะต้องเป็นผู้ช่วยฝีมือดี ที่ต้องมี 2 รู้ คือ รู้เขา และ รู้เรา (รบทุกครั้ง ชนะทุกครั้ง)

1. รู้เขา

บทบาทของครู ต้องรู้เขาใน 2 ลักษณะ คือ

รู้จักความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักที่จะพัฒนาให้เกิดขึ้น โดยครูจะต้องรู้จักความคิดสร้างสรรค์อย่างสนิทสนมคุ้นเคยและลึกซึ้งมากพอ ทั้งรู้ว่าความคิดสร้างสรรค์คืออะไร เกิดได้อย่างไร รู้ว่าเกิดหรือไม่ เกิดในปริมาณมากน้อยเพียงไรและทำอย่างไรจึงจะเกิดขึ้น

รู้จักเด็ก โดยเฉพาะรู้จักจริต ความชอบ บุคลิกความถนัด ตลอดจนรู้ระดับความคิดสร้างสรรค์ที่มีอยู่

การที่ครูรู้จักจริต ความชอบ บุคลิก ความถนัดของเด็ก ก็จะทำให้สามารถเลือกสรรกิจกรรมที่เหมาะกับจริตของเด็ก เนื่องด้วยความคิดสร้างสรรค์สร้างได้ ผ่านกิจกรรมต่างๆ มากมาย (มิใช่เพียงการวาดภาพเท่านั้น) เด็กคนใดที่มีจริต ความชอบแบบใดก็เลือกสรรกิจกรรมให้เหมาะสม

สำหรับการรู้ระดับความคิดสร้างสรรค์ที่มีอยู่ของเด็กก็จะทำให้สามารถเลือกสรรกิจกรรมที่มีระดับความยากง่ายเหมาะกับเขา ในการที่ครูจะรู้ระดับความคิดสร้างสรรค์ที่มีอยู่ของเด็กอาจจะทำได้หลายลักษณะ ทั้งการตรวจสอบอย่างเป็นทางการผ่านแบบทดสอบก็ได้ หรืออาจจะใช้การสังเกตพฤติกรรม และผลการคิด ที่อาจจะสะท้อนผ่านผลงานหรือคำพูด โดยอาจจะพิจารณาตามองค์ประกอบของความคิดสร้างสรรค์ ดังนี้

ตรวจสอบความคิดคล่อง โดยสังเกตความรวดเร็วในการคิดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น บอกประโยชน์ของปากกามาให้มากที่สุดในเวลา 5 นาที

ตรวจสอบความคิดริเริ่ม โดยตรวจสอบความแตกต่าง ความแปลกของความคิดที่อาจจะเทียบเคียงกับกลุ่มเพื่อนวัยเดียวกัน กลุ่มเดียวกัน หรือเทียบเคียงกับความคิดเดิมที่เคยคิด

ตรวจสอบความคิดหลากหลาย (ยืดหยุ่น) โดยสังเกตจำนวนแง่มุมในการคิด ผู้เรียนที่มีความคิดหลากหลายจะคิดเรื่องต่างๆ ในหลายแง่ มีมุมมองมากมาย

ตรวจสอบความคิดละเอียดลออ โดยพิจารณารายละเอียดของสิ่งที่คิด รายละเอียดของผลงานที่ปรากฏ

การตรวจสอบความคิดสร้างสรรค์โดยใช้กรอบดังกล่าว จะทำให้ครูรู้ข้อมูลของเด็กๆ ที่จะต้องช่วยเหลือว่ามีความคิดสร้างสรรค์ในองค์ประกอบลักษณะใด อยู่ในระดับใด ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญที่เปรียบดังแสงสว่างนำทางให้ครูออกแบบกิจกรรมได้เหมาะสม กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ได้มากขึ้น

2. รู้เรา

ก่อนที่จะลงมือพัฒนาเด็กให้มีความคิดสร้างสรรค์ ครูคงต้องรู้จักตนเองว่าเป็นอย่างไร มีบุคลิกลักษณะเอื้อต่อการช่วยเหลือเด็กให้มีความคิดสร้างสรรค์หรือไม่ คุณครูท่านใดที่ไม่เคยคิดอะไรแปลกๆ แตกต่าง กลัวความใหม่ กลัวความแตกต่าง ขาดความมั่นใจเมื่อต้องทำสิ่งต่างๆ ไม่เหมือนคนอื่น ขอให้ท่านรับรู้ว่า ท่านอาจจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการกระตุ้น พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็กเพื่อการรู้จักตัวเองว่ามีลักษณะเอื้อต่อการฝึกความคิดสร้างสรรค์แก่เด็กๆ มากน้อยเพียงใด ครูอาจจะพิจารณาว่าท่านเป็นอย่างนี้หรือไม่

1.เคร่งเครียด หมกมุ่น ขำไม่เป็น รังเกียจเรื่องราวขำๆ สนุกๆ

2.คิดว่าโลกนี้มีเพียง ขาวกับดำ / ถูกกับผิดเท่านั้น

3.มีแผนที่ชัดเจน เดินตามแผนเป๊ะ ผิดแผนเมื่อไรมีความรู้สึกว่าตนเองล้มเหลว

4.มีความเชื่อตามคำพูดที่ว่า “ครูอาบน้ำร้อนมาก่อนเชื่อฟังครูแล้วจะได้ดี”

5.มีคำติดปากว่า “เธอทำได้แค่นี้เหรอ” และคิดว่าคำชมเป็นของสูง ต้องให้กับผู้วิเศษ และผลงาน / ผู้คนที่ล้ำเลิศเท่านั้น

คุณครูผู้ใดที่ประเมินตนเองพบว่าทั้ง 5 ข้อเป็นลักษณะประจำตัวอย่างถาวร ขอให้ท่านตระหนักว่า ท่านคือจุดอ่อนที่อาจจะขัดขวางการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ หากท่านต้องการปรับเปลี่ยน / ปฏิวัติตนเอง เพื่อให้พร้อมที่จะเป็นผู้ช่วยร่วมด้วย ช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้เด็กๆ ท่านจะต้องปรับบทบาทของตนเองให้เป็นอย่างนี้

1.สร้างบรรยากาศสบาย ผ่อนคลาย เป็นกันเอง ยืดหยุ่น ตลก ขบขันและเชื่อมั่นว่าบรรยากาศที่สร้างจะทำให้ความคิดใหม่ฟักตัวขึ้นมา

2.ไม่เน้นระเบียบ แบบแผน กฎกติกามากเกินไปจนยับยั้งความคิดใหม่ที่กำลังงอกงาม

3.สร้างความเชื่อในความงดงามของความหลากหลาย มากมายมิติ และหลากแง่มุม

4.สร้างความเชื่อให้เกิดความมั่นใจในสิ่งที่คิด ผลการคิด และสิ่งที่เป็นอยู่ จนสลัดทิ้งความเชื่อในตัวอย่างที่ดีที่ถูกยกย่องว่าเป็นเลิศ และเลิก / ตัดขาด จากการเลียนแบบคนอื่นโดยสิ้นเชิง

5.มี / ใช้ สื่อ เทคนิค และวิธีการ กิจกรรม รูปแบบ แนวทางที่หลากหลายในการกระตุ้นให้เกิดความคิดในแง่มุมที่ไม่เคยคิดมาก่อน ทั้งวิธีการที่สร้างขึ้นมาเอง และวิธีการที่พิสูจน์แล้วว่าเกิดผลดี อาทิ การระดมสมอง ซินเนคติค การอุปมาอุปไมย

6.ให้ความเคารพต่อทุกความคิดแม้จะไม่ดีนัก ไม่ตรงกับความคิดของเรา

7.ให้การเสริมแรงอย่างทันท่วงที จริงจัง จริงใจ และหนักหน่วง เมื่อบังเกิดความคิด ผลงานที่แปลกใหม่ แตกต่าง ไม่เหมือนใคร

8.สร้างพลังใจ และความมั่นใจ เมื่อเด็กๆ มีความกล้าหาญที่จะคิด ลงมือทำ / ผลิตผลงานที่มีความแตกต่าง

9.มีความอดทนรอความคิดใหม่ และกระตุ้นให้เกิดความเชื่อมั่นว่าความคิดใหม่จะต้องเกิดขึ้น

มีคำกล่าวว่า

…. ถ้าครูคิดไม่เป็น อย่าคาดหวังว่าจะสามารถฝึกให้เด็กๆ คิดเก่งได้
…. ถ้าครูไม่เคยคิดต่าง แปลกใหม่ อย่าคาดหวังว่าจะสามารถฝึกให้เด็กๆ คิดต่าง แปลกใหม่ได้

เพื่อร่วมกันสร้างโลกใบนี้ให้หมุนในทิศทางใหม่เพื่อสร้างสังคมให้มีสิ่งใหม่เกิดขึ้น ขอคุณครูจงปรับเปลี่ยนความคิด พฤติกรรม มุ่งมั่นในการสรรหากิจกรรมใหม่ ในการพัฒนาเด็กไทยให้เปี่ยมไปด้วยฝัน จินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ด้วยเถิด

เรียบเรียง myfirstbrain.com
ที่มาข้อมูล : รศ.ดร.บังอร เสรีรัตน์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ที่ปรึกษาพิเศษและผู้เชี่ยวชาญด้านการสอน

นอกจากนี้คุณยังอาจต้องการ

ความเห็นถูกปิด

QR Code Generator | สร้างรหัส QR ของคุณได้ฟรี - สร้าง QR Code ออนไลน์อย่างง่ายและฟรี