Take a fresh look at your lifestyle.

ข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ

ข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ พ.ศ. 2556 คุรุสภาได้ออกข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ พ.ศ. 2556 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2556 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา” หมายความว่า ข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะ และคุณภาพที่พึงประสงค์ในการประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาต้องประพฤติปฏิบัติตาม ประกอบด้วย 3 มาตรฐาน ได้แก่ มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ มาตรฐานการปฏิบัติงานและมาตรฐานการปฏิบัติตน

มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ” หมายความว่า ข้อกำหนดเกี่ยวกับความรู้และประสบการณ์ในการจัดการเรียนรู้ หรือการจัดการศึกษา ซึ่งผู้ต้องการประกอบวิชาชีพทางการศึกษาต้องมีเพียงพอที่สามารถนำไปใช้ในการประกอบวิชาชีพได้

มาตรฐานวิชาชีพครู ด้านมาตรฐานความรู้ 11 มาตรฐาน ดังนี้ 1) ความเป็นครู 2) ปรัชญาการศึกษา 3) ภาษาและวัฒนธรรม 4) จิตวิทยาสำหรับครู 5) หลักสูตร 6) การจัดการเรียนรู้และการจัดการชั้นเรียน 7) การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ 8) นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา 9) การวัดและการประเมินผลการเรียนรู้ 10) การประกันคุณภาพการศึกษา 11) คุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณ

มาตรฐานประสบการณ์วิชาชีพ 2 มาตรฐาน ได้แก่ 1) การฝึกปฏิบัติวิชาชีพระหว่างเรียน 2) การปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาในสาขาวิชาเฉพาะ

มาตรฐานวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา ด้านมาตรฐานความรู้ 7 มาตรฐาน ดังต่อไปนี้ 1) การพัฒนาวิชาชีพ 2) ความเป็นผู้นำทางวิชาการ 3) การบริหารสถานศึกษา 4) หลักสูตร การสอน การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ 5) กิจการและกิจกรรมนักเรียน 6) การประกันคุณภาพการศึกษา 7) คุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณ

มาตรฐานประสบการณ์วิชาชีพ 2 มาตรฐาน ดังต่อไปนี้ 1) มีประสบการณ์ด้านปฏิบัติการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี หรือ 2) มีประสบการณ์ด้านปฏิบัติการสอนและต้องมีประสบการณ์ในตำแหน่งหัวหน้าหมวดหรือหัวหน้าสาย หรือหัวหน้างาน หรือตำแหน่งบริหารอื่น ๆ ในสถานศึกษามาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี

มาตรฐานวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา ด้านมาตรฐานความรู้ 6 มาตรฐาน ประกอบด้วยความรู้ ดังต่อไปนี้1) การพัฒนาวิชาชีพ 2) ความเป็นผู้นำทางวิชาการ 3) การบริหารการศึกษา 4) การส่งเสริมคุณภาพการศึกษา 5) การประกันคุณภาพการศึกษา 6) คุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณ

มาตรฐานประสบการณ์วิชาชีพ ดังต่อไปนี้ 1) มีประสบการณ์ด้านปฏิบัติการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่าแปดปี หรือ 2) มีประสบการณ์ในตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษามาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี หรือ 3) มีประสบการณ์ในตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงมาแล้ว ไม่น้อยกว่าสามปี หรือ 4) มีประสบการณ์ในตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่มีประสบการณ์การบริหารไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากลุ่ม หรือผู้อำนวยการกลุ่ม หรือเทียบเท่า มาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี หรือ 5) มีประสบการณ์ด้านปฏิบัติการสอน และมีประสบการณ์ในตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา หรือบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง หรือบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่มีประสบการณ์การบริหารไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากลุ่ม หรือผู้อำนวยการกลุ่ม หรือเทียบเท่า รวมกันมาแล้ว ไม่น้อยกว่าแปดปี

มาตรฐานวิชาชีพศึกษานิเทศก์ ด้านมาตรฐานความรู้ เป็น 8 มาตรฐาน ประกอบด้วยความรู้ ดังต่อไปนี้ 1) การพัฒนาวิชาชีพ 2) การนิเทศการศึกษา 3) แผนและกิจกรรมการนิเทศ 4) การพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ 5) การวิจัยทางการศึกษา 6) นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา 7) การประกันคุณภาพการศึกษา 8) คุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณ

มาตรฐานประสบการณ์วิชาชีพ ดังต่อไปนี้ 1) มีประสบการณ์ด้านปฏิบัติการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี หรือมีประสบการณ์ด้านปฏิบัติการสอนและมีประสบการณ์ในตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา หรือผู้บริหารการศึกษารวมกันมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี 2) มีผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพและมีการเผยแพร่

มาตรฐานการปฏิบัติงาน” หมายความว่า ข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะหรือการแสดงพฤติกรรมการปฏิบัติงานและการพัฒนางาน ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาต้องปฏิบัติตามเพื่อให้เกิดผลตามวัตถุประสงค์และเป้ าหมายการเรียนรู้ หรือการจัดการศึกษา รวมทั้งต้องฝึกฝนให้มีทักษะหรือความชำนาญสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ผู้ประกอบวิชาชีพครู

ต้องมีมาตรฐานการปฏิบัติงาน ดังต่อไปนี้ 1) ปฏิบัติกิจกรรมทางวิชาการเพื่อพัฒนาวิชาชีพครูให้ก้าวหน้าอยู่เสมอ 2) ตัดสินใจปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆโดยคำนึงถึงผลที่จะเกิดแก่ผู้เรียน 3) มุ่งมั่นพัฒนาผู้เรียนให้เติบโตเต็มตามศักยภาพ 4) พัฒนาแผนการสอนให้สามารถปฏิบัติได้จริงในชั้นเรียน 5) พัฒนาสื่อการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ 6) จัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ผู้เรียนรู้จักคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์โดยเน้นผลถาวรที่เกิดแก่ผู้เรียน 7) รายงานผลการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนได้อย่างมีระบบ 8) ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้เรียน 9) ร่วมมือกับผู้อื่นในสถานศึกษาอย่างสร้างสรรค์ 10) ร่วมมือกับผู้อื่นในชุมชนอย่างสร้างสรรค์ 11) แสวงหาและใช้ข้อมูลข่าวสารในการพัฒนา 12) สร้างโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในทุกสถานการณ์

ผู้ประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษา

ต้องมีมาตรฐานการปฏิบัติงาน ดังต่อไปนี้

1) ปฏิบัติกิจกรรมทางวิชาการเพื่อพัฒนาวิชาชีพการบริหารการศึกษาให้ก้าวหน้าอยู่เสมอ 2) ตัดสินใจปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆโดยคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นกับการพัฒนาของผู้เรียน บุคลากร และชุมชน 3) มุ่งมั่นพัฒนาผู้ร่วมงานให้สามารถปฏิบัติงานได้เต็มศักยภาพ 4) พัฒนาแผนงานขององค์การให้มีคุณภาพสูง สามารถปฏิบัติให้เกิดผลได้จริง 5) พัฒนาและใช้นวัตกรรมการบริหารจนเกิดผลงานที่มีคุณภาพสูงขึ้นเป็นลำดับ 6) ปฏิบัติงานขององค์การโดยเน้นผลถาวร 7) ดำเนินการและรายงานผลการพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้อย่างเป็นระบบ 8) ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี 9) ร่วมมือกับชุมชนและหน่วยงานอื่นอย่างสร้างสรรค์ 10) แสวงหาและใช้ข้อมูลข่าวสารในการพัฒนา 11) เป็นผู้นำและสร้างผู้นำทางวิชาการในหน่วยงานของตนได้ 12) สร้างโอกาสในการพัฒนาได้ทุกสถานการณ์

ผู้ประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์

ต้องมีมาตรฐานการปฏิบัติงาน ดังต่อไปนี้ 1) ปฏิบัติกิจกรรมทางวิชาการเพื่อพัฒนาการนิเทศการศึกษา เพื่อให้เกิดการพัฒนาวิชาชีพทางการศึกษาอย่างสม่ำเสมอ 2) ตัดสินใจปฏิบัติกิจกรรมการนิเทศการศึกษา โดยคำนึงถึงผลที่จะเกิดแก่ผู้รับการนิเทศ 3) มุ่งมั่นพัฒนาผู้รับการนิเทศให้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมจนเกิดผลต่อการพัฒนาอย่างมีคุณภาพ เต็มศักยภาพ 4) พัฒนาแผนการนิเทศให้มีคุณภาพสูง สามารถปฏิบัติให้เกิดผลได้จริง 5) พัฒนาและใช้นวัตกรรมการนิเทศการศึกษาจนเกิดผลงานที่มีคุณภาพสูงขึ้นเป็นลำดับ 6) จัดกิจกรรมการนิเทศการศึกษาโดยเน้นผลถาวรที่เกิดแก่ผู้รับการนิเทศ 7) ดำเนินการและรายงานผลการนิเทศการศึกษาให้มีคุณภาพสูงได้อย่างเป็นระบบ 8) ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี 9) ร่วมพัฒนางานกับผู้อื่นอย่างสร้างสรรค์ 10) แสวงหาและใช้ข้อมูลข่าวสารในการพัฒนา 11) เป็นผู้นำและสร้างผู้นำทางวิชาการ 12) สร้างโอกาสในการพัฒนางานได้ทุกสถานการณ์

มาตรฐานการปฏิบัติตน” หมายความว่า จรรยาบรรณของวิชาชีพที่กำหนดขึ้นเป็นแบบแผนในการประพฤติตน ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาต้องปฏิบัติตาม เพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณชื่อเสียง และฐานะของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาแก่ผู้รับบริการและสังคมอันจะนำมาซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพ

ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา

ต้องมีมาตรฐานการปฏิบัติตนตามข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยจรรยาบรรณของวิชาชีพข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ พ.ศ. 2556 ให้ประธานกรรมการคุรุสภารักษาการตามข้อบังคับนี้ และให้มีอำนาจออกระเบียบประกาศ หรือคำสั่ง เพื่อปฏิบัติตามข้อบังคับนี้ รวมทั้งให้มีอำนาจตีความและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ ซึ่งมีประกาศที่ออกมาเพื่อปฏิบัติมีดังนี้

– ประกาศคณะกรรมการคุรุสภา เรื่อง สาระความรู้ สมรรถนะและประสบการณ์วิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และศึกษานิเทศก์ ตามข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ พ.ศ. ๒๕๕๖

– ประกาศคุรุสภา เรื่อง การรับรองปริญญาและประกาศนียบัตรทางการศึกษาเพื่อการประกอบวิชาชีพ พ.ศ. ๒๕๕๗

– ประกาศคณะกรรมการคุรุสภา เรื่อง การรับรองการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาเพื่อประกอบการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูของชาวต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๗

– ประกาศคณะกรรมการคุรุสภา เรื่อง บุคคลผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพควบคุมเป็นการชั่วคราว พ.ศ.๒๕๕๘

– ประกาศคณะกรรมการคุรุสภา เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะกรรมการคุรุสภา เรื่อง บุคคลผู้ได้รับยกเว้น ไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพควบคุมเป็นการชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๕๘

ข้อบังคับนี้ไม่กระทบสิทธิและหน้าที่ของผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ใช้ตามข้อบังคับเดิมของคุรุสภา ผู้ที่สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรที่ใช้มาตรฐานวิชาชีพตามข้อบังคับคุรุสภา (เดิม) ให้ขอขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่สำเร็จการศึกษา ผู้ที่มีคุณวุฒิตามหลักสูตร ที่ใช้มาตรฐานวิชาชีพตามข้อบังคับคุรุสภา (เดิม)ให้ขอขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับ

ข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยจรรยาบรรณวิชาชีพ พ.ศ. 2556

โดยมีสาระสำคัญ คือการกำหนดจรรยาบรรณวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ทั้งต่อตนเอง ผู้รับบริการ ผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ และสังคม ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว ภายหลังประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2556

ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา” ว่าหมายถึง ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และบุคลาการทางการศึกษาอื่น ซึ่งได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ ตาม พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546

จรรยาบรรณวิชาชีพ” หมายถึง มาตรฐานการปฏิบัติตนที่กำหนดขึ้นเป็นแบบแผนในการประพฤติตน ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาต้องปฏิบัติตาม เพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณชื่อเสียงและฐานะของผู้ประกอบวิชาชีพทางการ ศึกษาให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาแก่ผู้รับบริการและสังคม อันจะนำมาซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพ

สำหรับสาระในข้อบังคับดังกล่าวที่น่าสนใจ ได้แก่จรรยาบรรณวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่มีการกำหนดไว้ 5 จรรยาบรรณ ประกอบด้วย

จรรยาบรรณต่อตนเองผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา

ต้องมีวินัยในตนเอง พัฒนาตนเองด้านวิชาชีพบุคลิกภาพ และวิสัยทัศน์ ให้ทันต่อการพัฒนาทางวิทยาการ เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอยู่เสมอ

จรรยาบรรณต่อวิชาชีพผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา

ต้องรัก ศรัทธา ซื่อสัตย์สุจริต รับผิดชอบต่อวิชาชีพและเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กรวิชาชีพ

จรรยาบรรณต่อผู้รับบริการผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา

ต้องรัก เมตตา เอาใจใส่ ช่วยเหลือ ส่งเสริมให้กำลังใจแก่ศิษย์ และผู้รับบริการ ตามบทบาทหน้าที่โดยเสมอหน้า

จรรยาบรรณต่อผู้ร่วมประกอบวิชาชีพผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา

พึงช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันอย่างสร้างสรรค์โดยยึดมั่นในระบบคุณธรรม สร้างความสามัคคีในหมู่คณะ

จรรยาบรรณต่อสังคมผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา

พึงประพฤติปฏิบัติตนเป็นผู้นำในการอนุรักษ์และพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญา สิ่งแวดล้อม รักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม และยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ทั้งนี้ ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาใดที่ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับนี้ หากมีผู้ได้รับความเสียหายจากการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพสามารถยื่นคำ ร้องต่อคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ คุรุสภา เพื่อตรวจสอบ โดยผลการตรวจสอบสามารถออกได้ 5 กรณี ยกข้อกล่าวหา ตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาต

มีกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควรแต่ไม่เกินห้าปี และเพิกถอนใบอนุญาต ทั้งนี้ ตามมาตรา 51

ถึงมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546

ข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ พ.ศ. ๒๕๕๙

ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” หมายความว่า ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพซึ่งออกให้ผู้ปฏิบัติงานหรือผู้มีความประสงค์จะปฏิบัติงานในตำแหน่งครู

ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา” หมายความว่า ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพซึ่งออกให้ผู้ปฏิบัติงาน หรือผู้มีความประสงค์จะปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา

ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา” หมายความว่า ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพซึ่งออกให้ผู้ปฏิบัติงาน หรือผู้มีความประสงค์จะปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา

ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์” หมายความว่า ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพซึ่งออกให้ผู้ปฏิบัติงาน หรือผู้มีความประสงค์จะปฏิบัติงานในตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ซึ่งเป็นบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามที่ประกาศกำหนดในกฎกระทรวง

คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาต

ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามหลักเกณฑ์ ที่คณะกรรมการนกำหนด

คุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาต

ได้แก่ 1) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ 2) มีวุฒิปริญญาทางการศึกษา หรือเทียบเท่า หรือมีคุณวุฒิอื่นที่คุรุสภารับรอง 3) ผ่านการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาตามหลักสูตรปริญญาทางการศึกษา เป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี และผ่านเกณฑ์การประเมินปฏิบัติการสอนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

ลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาต

ได้แก่ 1) เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี 2) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ 3) เคยต้องโทษจำคุกในคดีที่คุรุสภาเห็นว่าอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ

สำหรับชาวต่างประเทศที่ไม่มีสัญชาติไทย หรือผู้มีสัญชาติไทยที่ใช้คุณวุฒิที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ

ในการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู นอกจากไม่มีลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาต แล้วต้องมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ ที่คณะกรรมการกำหนด ดังนี้ 1) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ 2) มีวุฒิการศึกษา ข้อใดข้อหนึ่งดังนี้ (ก) มีวุฒิปริญญาทางการศึกษาหรือเทียบเท่า (ข) มีวุฒิปริญญาอื่นและมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูจากต่างประเทศ (ค) มีวุฒิปริญญาอื่นและมีคุณวุฒิประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครูที่ใช้เวลาศึกษาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี (ง) มีวุฒิปริญญาอื่นและผ่านการรับรองความรู้วิชาชีพครูตามมาตรฐานของคุรุสภาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด และผ่านการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปีตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด พร้อมทั้งมีใบอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทย (Work Permit) และมีหลักฐานการให้พำนักอยู่ในประเทศไทย

สำหรับผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา หรือศึกษานิเทศก์

ต้องมีคุณสมบัติ ตามหลักเกณฑ์ ที่คณะกรรมการกำหนด 1) มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู 2) มีความรู้และประสบการณ์วิชาชีพตามที่กำหนดในข้อบังคับว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ 3) ประพฤติตนตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ

การกำหนดอายุและการต่ออายุใบอนุญาต

ใบอนุญาตให้มีอายุใช้ได้เป็นเวลาห้าปี นับแต่วันที่ออกใบอนุญาต
ผู้ขอต่ออายุใบอนุญาต ต้องมีคุณสมบัติตามที่คณะกรรมการกำหนด และประพฤติตนตามจรรยาบรรณของวิชาชีพผู้ประกอบวิชาชีพที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพให้ต่ออายุใบอนุญาตต่อเนื่องเป็นครั้งที่สามตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
ผู้ได้รับใบอนุญาต ที่ประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาต ต้องยื่นคำขอต่อเลขาธิการ ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันก่อนวันที่ใบอนุญาตจะหมดอายุ พร้อมด้วยเอกสารและหลักฐาน เมื่อตรวจสอบแบบคำขอพร้อมเอกสารหลักฐานถูกต้องและครบถ้วนแล้ว ให้เลขาธิการเสนอคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้ต่ออายุใบอนุญาตตามประเภทของใบอนุญาต โดยกำหนดวันออกใบอนุญาตเป็นวันที่ต่อเนื่องจากใบอนุญาตฉบับเดิม
ผู้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตหลังจากวันที่ใบอนุญาตหมดอายุแล้ว และมีคุณสมบัติครบถ้วน ให้ชี้แจงเหตุผลกรณีที่ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตหลังจากวันที่ใบอนุญาตหมดอายุพร้อมเอกสารหลักฐานและให้ชำระค่าดำเนินการกรณีขอต่ออายุใบอนุญาตล่าช้าเป็นเงินเดือนละสองร้อยบาท โดยระยะเวลาที่ล่าช้านับได้ไม่ถึงหนึ่งเดือนให้นับเป็นหนึ่งเดือน ผู้ยื่นคำขอจะได้รับใบอนุญาตเมื่อผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ
ผู้ได้รับใบอนุญาตที่ใบอนุญาตหมดอายุแล้ว ไม่สามารถใช้สิทธิในการประกอบวิชาชีพตามประเภทใบอนุญาตที่ได้รับต่อไปได้
ใบอนุญาตสิ้นสุดลงในกรณี ดังต่อไปนี้ คือ ใบอนุญาตหมดอายุ, ถูกสั่งเพิกถอนหรือถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต
ผู้ที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต เมื่อพ้นกำหนดห้าปีนับแต่วันที่ถูกสั่งเพิกถอน ประสงค์ขอรับใบอนุญาตตามประเภทที่เคยได้รับ ให้ยื่นคำขอต่อเลขาธิการตามแบบที่กำหนด พร้อมด้วยเอกสารหลักฐานตามหลักเกณฑ์ ที่คณะกรรมกากำหนด
ข้อบังคับคุรุสภา

ว่าด้วยการพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ. ๒๕๕๓

คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ

ประธานกรรมการ” หมายความว่า ประธานกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ

กรรมการ” หมายความว่า กรรมการมาตรฐานวิชาชีพ

คณะอนุกรรมการสอบสวน” หมายความว่า คณะอนุกรรมการสอบสวนการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ

ประธานอนุกรรมการสอบสวน” หมายความว่า ประธานอนุกรรมการสอบสวนการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ”

อนุกรรมการสอบสวน” หมายความว่า อนุกรรมการสอบสวนการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ

เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการคุรุสภา

การสืบสวน” หมายความว่า การแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในเบื้องต้น ไม่ว่าก่อนหรือหลังที่มีการกล่าวหาหรือการกล่าวโทษ เพื่อที่จะพิจารณาว่าพฤติการณ์ของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษามีมูลที่ควรกล่าวหาหรือกล่าวโทษว่าประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพทางการศึกษาหรือไม่

การสอบสวน” หมายความว่า การรวบรวมพยานหลักฐานและการดำเนินการต่าง ๆ ตามข้อบังคับนี้หรือตามกฎหมายอื่นซึ่งข้อบังคับนี้ให้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลม เพื่อพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา

เจ้าหน้าที่” หมายความว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาซึ่งเลขาธิการแต่งตั้ง

ให้ประธานกรรมการคุรุสภารักษาการตามข้อบังคับนี้ และให้มีอำนาจตีความและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้

หมวด ๑ บททั่วไป

หมวด ๒ การกล่าวหาหรือการกล่าวโทษ

หมวด ๓ การสืบสวน

หมวด ๔ การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวน

หมวด ๕ สิทธิและหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวโทษและพยาน

หมวด ๖ การคัดค้าน

หมวด ๗ อำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการสอบสวน

หมวด ๘ วิธีการสอบสวน

หมวด ๙ การทำรายงานการสอบสวน

หมวด ๑๐ การสอบสวนที่มิชอบและบกพร่อง

หมวด ๑๑ การพิจารณาของคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ

หมวด ๑๒ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ

นอกจากนี้คุณยังอาจต้องการ

ความเห็นถูกปิด

QR Code Generator | สร้างรหัส QR ของคุณได้ฟรี - สร้าง QR Code ออนไลน์อย่างง่ายและฟรี