การพัฒนาเด็ก และ ครอบครัวในศตวรรษที่ 21

เมื่อสังคมโลกมีการเปลี่ยนแปลง กระบวนทัศน์ใน การพัฒนาเด็ก ในมิติของสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมแบบเดิม อาจต้องถูกทับซ้อนด้วยแนวคิด รูปแบบวิธีการ ความเชื่อ และเทคโนโลยีที่ผุดเกิดขึ้นใหม่ๆตามยุคสมัย เด็กและครอบครัวจำ เป็นต้องข้ามผ่านวันเวลาที่ผันเปลี่ยน และยืนหยัดอยู่ให้ได้ในสังคมสมัยใหม่ บ่มฟักคุณลักษณะที่พึงมีอย่างเหมาะสม ให้กับทรัพยากรมนุษย์ของวันนี้และอนาคตข้างหน้า ให้สมบูรณ์แบบอย่างเต็มกำลัง

เมื่อห้วงเวลาของศตวรรษที่ 21 คืบคลานเข้ามานับกว่าทศวรรษแล้ว สังคมโลกเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลง การปรับตัว และการบริหารจัดการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น สำหรับผู้ใหญ่ โดยทั่วไปได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านของบริบททางสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้นเช่นเดียวกับเด็ก ที่เป็นทั้งผลพวงและเป็นโจทย์สำคัญของสังคมว่า จะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างไร ตั้งแต่วัยเริ่มต้น ให้มีพื้นฐานที่ดีมั่นคง สามารถเติบโตและอยู่รอดได้อย่างมีคุณภาพในอนาคต

Advertisements

การพัฒนาเด็ก เด็กในศตวรรษที่ 21 สำคัญอย่างไร?

ภาพลักษณ์ของศตวรรษที่ 21 (ค.ศ.2001-ปัจจุบัน) อาจถูกวาดออกมาให้ดูน่าสะพรึงกลัว และหลุดแยกออกไปจากศตวรรษที่ 20 เป็นอย่างมาก เช่นมีการอธิบายว่า ศตวรรษที่ 21 นี้มีการขยายตัวทางเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมสูงสุด เรียกได้ว่าเป็นพัฒนาแบบก้าวกระโดด ซึ่งทำให้โลกทั้งใบสามารถเชื่อมโยงกันได้ มีการส่งผ่านข้อมูลข่าวสารรวมถึงวิทยาการสมัยใหม่ ข้ามผ่านซีกโลกอย่างกว้างขวางในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่การเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒน ธรรม และสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ทำให้มนุษย์กลายเป็นฐานทรัพยากรหลักของโลก เพราะพวกเขามีความรู้และสามารถเรียนรู้ได้ สามารถอยู่ร่วมกับเทคโนโลยีได้ สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ รวมไปถึงมีความคิดสร้างสรรค์ และทักษะอื่นๆบนพื้นฐานของจริยธรรมที่ดี ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้มนุษย์และสังคมอยู่รอดอีกด้วย

จากความจำเป็นในการพัฒนาคนให้เข้ากับสังคมยุคใหม่นั้น ทำให้มีการสรุปออกมาว่าสมรรถนะหรือทักษะอะไรที่มนุษย์ยุคใหม่จะต้องมี ที่เรียกกันว่า 21st Century skills หรือทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ประกอบไปด้วย ทักษะ 4 ประการ คือ

  • การมีความรู้ในวิชาหลัก ซึ่งมีความหมายครอบคลุมถึงความรู้รอบตัวอื่นๆด้วย
  • การมีทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ
  • การมีทักษะการเรียนรู้และสร้างนวัตกรรมใหม่ ที่เกี่ยวข้องกับทักษะแห่งความร่วมมือ 4 ประการคือ
    • การสื่อสาร (Communication)
    • ความร่วมมือกัน (Collaboration)
    • ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity)
    • การคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking)
  • การมีทักษะด้านสารสนเทศ สื่อและเทคโนโลยี

แม้ว่าจะมีทักษะที่จำเป็นเพียง 4 ประการ แต่ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นทักษะที่ต้องได้รับการพัฒนาในระยะยาว ซึ่งแปลว่าจะต้องได้รับการปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็กซึ่งเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ และเมื่อมีการวิเคราะห์สภาพการศึกษาในขณะนี้พบว่าหลายๆประเทศรวมถึงประเทศไทย หลักสูตรการเรียนการสอนในระดับปฐมวัยที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ยังไม่สามารถทำให้เด็กมีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะทำให้พวกเขาสามารถอยู่รอดในสังคม และมีชีวิตที่มีคุณภาพได้เมื่อโตขึ้น นี่จึงเป็นโจทย์ปัญหาใหญ่ที่ต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วนในเวลานี้ ทำให้มีงานวิจัยหลายชิ้น พยายามค้นหาและตอบคำถามที่ว่า ทำไมหลักสูตรปัจจุบันจึงไม่สามารถตอบสนองความต้องการนี้ได้

Advertisements

ผลการวิจัยที่ศึกษาตัวแปรที่แตกต่างกันไป สามารถสรุปปัญหาของการศึกษาปฐมวัยของไทยที่น่าสนใจ สรุปสาระ สำคัญได้เป็น 3 ประเด็นหลักๆได้ดังนี้

  • เด็กมีค่าเฉลี่ยไอคิวต่ำกว่าระดับสากล แต่กลับมีระดับความเครียดสูงมาก ทั้งๆที่มีการเรียนการสอนด้านวิชาการตั้งแต่ระดับอนุบาล ซึ่งน่าจะทำให้เด็กมีไอคิวสูงกว่าหลายๆประเทศที่เริ่มเรียนด้านวิชาการในระดับประถม
  • เด็กขาด M.Q. (Moral Quotient) หรือความมีคุณธรรมจริยธรรมในจิตสำนึก และยังขาด A.Q. (Adversity Quotient) หรือความสามารถในการอดทนฝ่าฟันอุปสรรค ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องเริ่มปลูกฝังตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเด็ก
  • เด็กขาดทักษะในการดำรงชีวิต ซึ่งทำให้เด็กหลายคนมีปัญหาในการเข้าสังคมและการอยู่ร่วมกับผู้อื่น รวมไปถึงการที่เด็กไม่สามารถดูแลตนเองได้ และมีทักษะไม่มากพอที่จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยตัวเอง

ปัญหาการพัฒนาเด็กและครอบครัวในศตวรรษที่ 21 มีลักษณะอย่างไร?

ได้มีการวิเคราะห์ปัญหาออกมาแล้วว่า การจัดการเรียนการสอนในปัจจุบัน ไม่สามารถทำให้เด็กไทยมีทักษะหรือคุณสมบัติมากพอที่จะดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพอยู่ในศตวรรษที่ 21 ใน 3 ประเด็นข้างต้นได้ ทำให้สามารถมองเห็นปัญหาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่สำหรับผู้ใหญ่นั้นภาพปัญหานี้อาจยังไม่ชัดเจนมากนัก เพราะผลของมันจะเกิดขึ้นในระยะยาวเมื่อเด็กโตขึ้น หรือเรียนในระดับที่สูงขึ้น และต้องใช้ชีวิตด้วยตัวเอง ด้วยเหตุนี้คนส่วนหนึ่งจึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาช่วงปฐม วัยมากนัก เพราะคิดว่าเป็นเรื่องของอนาคต ปัญหาที่ปรากฏให้เห็นและกำลังขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ คือ เด็กเรียนวิชาการมากขึ้นแต่ไอคิวต่ำลง มีอาการป่วยเป็นโรคเครียดตั้งแต่อายุยังน้อยเพิ่มขึ้น มีปัญหาเกี่ยวกับการเรียนมากขึ้น มีผู้ใหญ่ที่คนตกงานมากขึ้น ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นทันที แต่หากมองให้ลึกลงไป กลับเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงมาจากพื้นฐานการพัฒนาที่ยาว นานมาตั้งแต่อดีต

เกร็ดความรู้เพื่อครู

นอกจากพ่อแม่แล้ว ครูก็เป็นบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเด็ก การเตรียมความพร้อมให้เด็ก สามารถดำเนินชี วิตในศตวรรษที่ 21 นี้ได้ นอกจากปรับระบบความคิดเกี่ยวกับการเรียนการสอนสำหรับเด็กเล็กแล้ว ครูยังสามารถช่วยเด็กๆได้อีกหลายทาง ไม่ว่าจะเป็น การจัดห้องเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้ เช่น การตกแต่งห้องเรียนด้วยรูปภาพหรือสื่อการสอนที่มีสีสันสดใส ทำให้เด็กอยากเข้ามาเรียนรู้ ซึ่งนั่นถือเป็นการพัฒนาทักษะทางการคิดของเด็ก และช่วยเสริมสร้างจินตนาการของพวกเขา หรือแม้แต่การให้ความสำคัญกับเวลาพัก เพื่อให้เด็กได้มีเวลาผ่อนคลายก่อนที่จะเริ่มเรียนรู้ต่อไป ดูแลเรื่องอา หารและการออกกำลังกาย เพื่อให้เด็กได้พัฒนาทั้งสมองและร่างกายอย่างเหมาะสมไปพร้อมๆกัน และมีความพร้อมที่จะพัฒนาในส่วนอื่นๆต่อไป นอกจากนี้ครูยังสามารถจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ ที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้สมองทั้งซีกซ้าย (การคิดอย่างมีเหตุผล) และซีกขวา (อารมณ์ความรู้สึก)ไปพร้อมๆกัน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างสมดุล และหากเป็นกิจกรรมที่เร้าให้เด็กเกิดความสงสัยและอยากรู้เพิ่มเติมด้วย ก็จะทำให้พวกเขามีความอยากที่จะเรียนรู้และหาคำตอบ ยิ่งไปกว่านั้น การหากิจกรรมที่มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน จะทำให้เด็กสามารถฝึกการคิดอย่างเป็นขั้นตอน และการเชื่อมโยงได้อีกด้วย แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ครูควรจะต้องคิดอยู่ตลอดเวลาคือ เด็กมีความพร้อมหรือมีบุคลิกภาพเหมาะกับการเรียนการสอนแบบไหนในช่วงไหน ในบางครั้งเด็กอาจไม่พร้อมกับกิจกรรมที่มีความเป็นนามธรรมมากเกินไป ก็ควรกลับไปใช้สื่อและกิจกรรมที่เห็นรูปธรรมก่อน เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้จากการใช้ประสาทสัมผัส เช่น การเล่นเกมหรือทำกิจกรรม แทนที่จะเป็นการนั่งโต๊ะเรียน และสุดท้าย ครูควรจะลดความกังวลเกี่ยวกับความรู้ทางวิชาการลง และให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ของเด็กมากขึ้น เพราะบางครั้งการเล่นเกมของเด็กเพียงหนึ่งครั้ง อาจทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้มากกว่าการนั่งเรียนวิชาการมากมหาศาล

 

ขอบคุณข้อมูลจาก taamkru.com

Comments are closed.